คลังบทความของบล็อก

19 พฤศจิกายน 2561

รวมภาพรถรางในอดีต

                                          เมืองไทยในอดีต/ประวัติรถราง







จะขอเล่าถึงกำเนิดรถรางต่อไป ภายหลังจากการสร้างถนนเจริญกรุง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ และได้เปิดให้คนใช้สัญจรไปมาได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๗ แล้ว ปรากฏว่าถนนสายนี้มีคนสัญจรไปมากันมาก เพราะเป็นถนนสายเดียวที่มี ประกอบกับถนนสายนี้เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างท่าเรือถนนตกกับในเมือง หรือในเขตที่เจริญแล้ว ผู้คนจึงมาก ก็การคมนาคมในสมัยนั้น ได้เล่ามาแล้วว่า ถ้าเป็นทางน้ำก็ใช้เรือพาย เรือแจว ถ้าเป็นเจ้านาย ขุนนาง ก็ใช้เรือเก๋ง หรือเรือประทุนเป็นต้น ถ้าเป็นทางบก ก็ใช้เดินมากที่สุด อย่างดีก็ขี่ม้า ถ้ามีเงินหน่อยก็ใช้รถม้า มีรถเจ๊กวิ่งรับจ้างอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มากนัก โดยเหตุที่ถนนเจริญกรุงมีผู้คนใช้มีผู้คนใช้สัญจรไปมามาก พื้นถนนเมื่อสร้างครั้งแรกไม่มีการลงราก ใช้เพียงอิฐเรียงตะแคงไว้เท่านั้น ไม่ช้าก็ชำรุดทรุดโทรมลอย่างรวดเร็ว ไม่สะดวกแก่รถม้า รถเจ๊ก และแม้แต่คนเดินเท้า ฟ้าดินจึงบันดาลให้เกิดฝรั่งชาติเดนมาร์คสมองใสคนหนึ่ง มองเห็นประโยชน์ที่จะใช้ถนนเจริญกรุงอันเป็นหลุมเป็นบ่อ และเต็มไปด้วยโคลนเลนในหน้าฝนนั้น ควักอัฐจากกระเป๋าคนไทยไปเข้ากระเป๋าตัวเองได้อย่างสบาย ยอดฝรั่งเดนมาร์คคนนี้ชื่อ นายจอห์น ลอฟตัส หลังจากดีดลูกคิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายจอห์น ลอฟตัส จึงขออนุญาตต่อรัฐบาลขอสัมปทานจัดการรถรางขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้นายจอห์น ลอฟตัส ดำเนินงานได้ ด้วยพระองค์มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศทั้งหลายอยู่แล้ว การมีรถรามาก ๆ เป็นความสดวกของอาณาประชาราษฎร และอีกประการหนึ่ง รถของนายจอห์น ลอฟตัส ก็ไม่เป็นอันตรายแก่ถนนหลวงด้วย


ภายหลังที่ได้มีพระบรมราชานุญาตแล้ว นายจนห์น[จอห์น] ลอฟตัส จึงเริ่มวางรางสำหรับให้รถวิ่ง เริ่มตั้งแต่บางคอแหลม ถนนตก มาตามสายถนนเจริญกรุงจนถึงพระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นปรากฏว่ามีประชาชนสนใจและแตกตื่นมาดูเขาสร้างรางกันเป็นการใหญ่ เพราะไม่เคยเห็น บางคนก็ไม่รู้ว่านายจอห์น ลอฟตัส จะทำอะไรเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ เล่ากันว่า นายจอห์น ลอฟตัส ได้ฉวยโอกาสนี้ทำการโฆษณาคุณภาพรถของตนว่าวิเศษนัก ดีกว่าเดิน ดีกว่ารถม้า ดึกว่ารถเจ๊ก นั่งไม่กระเทือน สบายดีนัก บางคนก็ว่า โม้มากไปหน่อยมั้ง นายจอห์น ลอฟตัสว่า เถอะน่าคอยดูรถวิเศษของตัวเถอะ คนก็คอยดูว่าเดนมาร์คคนนี้จะมีฤทธิ์มีเดชสักแค่ไหน



ครั้นวางรางเสร็จ นายจอห์น ลอฟตัส ก็ทำพิธีเปิดเดินรถรางเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๑ โดยใช้ม้าลากไปตามราง ดูเหมือนเมื่อเดินวันแรกนั้น นายจอห์น ลอฟตัส จะไม่ได้เก็บสตางค์ ให้นั่งฟรี เลยนั่งรถรางกันเป็นการใหญ่ จริงแฮะ รถเขานั่งไม่กระเทือนจริง ๆ แหละ ดีกว่ารถเจ๊ก สบายกว่ารถม้าเป็นไหน ๆ วิเศษแท้ นายจอนห์น[จอห์น] ลอฟตัส จึงควักกระเป๋าคนไทยล้วงอัฐไปซื้อขนมปังกินสบายไปเลย รถรางของนายจอห์น ลอฟตัส อะไร ๆ ก็ดีอยู่หรอก แต่สงสารม้าจัง นายจอห์น ลอฟตัส อ้วนขึ้นแต่ม้าผอมลงไปทุกวัน จนกลายเป็นผอมโกโรโกโส ม้าลากรถรางคันหนึ่งมีสองคู่ คือ ๔ ตัว เรียกว่าพวงหนึ่ง นอกนั้นยังมีม้าอะไหล่ไว้สำหรับสับเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ ตลอดไปตามถนนเจริญกรุง เมื่อม้าลากรถรางมาถึงระยะสับเปลี่ยนก็เอาม้าพวงที่ลากมาออกให้กินน้ำกินหญ้าพักผ่อน เปลี่ยนไปเทียมม้าพวงที่เอามารอไว้ลากต่อไปทำอย่างนี้เป็นระยะ ๆ ไป ถ้าตอนไหนเป็นตอนที่จะต้องขึ้นสะพานสูง ๆ ม้าพวงเดียวลากไม่ไหว ต้องมีม้าไว้คอยช่วยลากขึ้นสะพานอีกพวงหนึ่งเป็นสองพวง รวม ๘ ตัวด้วยกัน เมื่อพ้นสะพานแล้ว ก็ปลดพวงช่วยออก ใช้ม้าพวงเดียวลากต่อไป แม้จะมีระยะสับเปลี่ยนม้าอย่างว่า แต่ม้าก็ทนไม่ไหว ถึงจะได้พักผ่อนบ้างแต่ก็น้อย เพราะประเดี๋ยวรถคันหลังก็ตามมาเปลี่ยนเสียอีก ม้าลากรถรางจึงผอมโซ เคยมีอันเป็นต้องล้มลงกลางทางเสมอ เพราะหมดแรงไปไม่ไหว


มีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโดยปกติพระองค์มักจะเสด็จออกตรวจตราดูแลทุกข์สุขของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์เสมอ โดยทรงฉลองพระองค์อย่างประชาชนธรรมดา เสด็จปะปนไปกับประชาชนมิได้ขาด และมักเสด็จไปโดยปราศจากผู้ติดตาม วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ได้เสด็จขึ้นประทับรถรางของนายจอห์น ลอฟตัส ที่หลักเมืองอันเป็นต้นทาง เผอิญทรงลืมเอาสตางค์ไป พระองค์ประทับชั้นหนึ่ง โดยไม่มีใครเฉลียวใจว่าเป็นเจ้าเหนือหัว นึกว่าเป็นเจ๊กกันไปหมด เพราะทรงฉลองพระองค์แบบเจ๊ก พอรถเคลื่อนที่ออก พนักงานเก็บเงิน ที่เรียกกันว่า “กระเป๋า” ในปัจจุบัน ดูเหมือนชื่อ “พัน” แต่ไม่แน่ชื่อนี้อาจจำผิดไปก็ได้ ถ้าเผอิญผิดก็ขออภัยท่านผู้รู้ไว้ด้วย ครั้นนายพันเก็บมาถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นายพันจำพระองค์ไม่ได้ ถามว่าจะไปลงที่ไหน ตรัสว่า ถนนตก นายพันกล่าวต่อไปว่า ถนนตกต้องเสียสลึงหนึ่ง (หรือเท่าไรก็ลืมไปแล้ว) ตรัสว่าไม่มี รีบออกจากบ้านแต่เช้า เมียเขาลืมเอากระเป๋าสตางค์ใส่ไว้ให้ นายพันว่าไม่มีสตางค์ก็ลง ตรัสว่า ขอให้ฉันไปด้วยเถอะ ฉันมีธุระจริง ๆ พรุ่งนี้จะเอามาให้ นายพันว่าไม่ได้หรอก ระเบียบเขามีอย่างนั้น ขึ้นรถแล้วต้องเสียสตางค์ซี ตรัสว่าเถอะน่า เว้นฉันไว้สักคนคงไม่เป็นไร ไม่มีใครรู้หรอก นายพันว่าไม่ได้หรอก ต้องทำตามหน้าที่ อย่าว่าใจร้ายใจดำเลยพ่อคุณ ให้พ่อไปด้วยไม่ได้หรอก มันผิดระเบียบ ตรัสว่า ก็ฉันจะไปนี่นา บอกว่าพรุ่งนี้จะเอามาให้ เมื่อไม่เชื่อก็ตามใจ แต่ฉันต้องไปถนนตกให้ได้ ฝ่ายนายพันก็ไม่ยอมท่าเดียว เถียงกันโล้งเล้งไปหมด เผอิญยายแก่คนหนึ่งนั่งมาในรถรางชั้นสองคันเดียวกัน ได้ยินเสียงทะเลาะกันก็หันไปดู จำได้ว่าเป็นในหลวงด้วยเคยเห็น จึงเรียกนายพันมาแล้วยื่นสตางค์สลึงหนึ่งให้ ว่า เอ้าฉันให้ค่ารถแทน นายพันก็รับเอาไป เรื่องราวควรจะจบลงเท่านี้ แต่ยังไม่จบ พอรถรางวิ่งไปจนเกือบถึงถนนตก รถม้าพระที่นั่งก็วิ่งตามไปทัน ทุกคนบนรถรางรวมทั้งนายพันหันไปดู โจทย์กันว่าในหลวงเสด็จ ต่างคอยจ้องดูในหลวง รถรางคันนั้นก็หยุดเพื่อให้รถพระที่นั่งผ่านไปก่อน แต่รถพระที่นั่งไม่เลยไป กลับมาหยุดเทียบรถรางพอดี ในหลวงซึ่งประทับมาในรถรางก็เสด็จขึ้นประทับบนรถพระที่นั่ง แล้วรถพระที่นั่งก็บ่ายหน้ากลับ ตอนนี้นายพันตาเหลือก ตกตลึง เกิดจำได้ขึ้นมาว่า ผู้ที่ตนทะเลาะเรื่องค่าโดยสารและไล่ให้ลงเมื่อกี้ คือในหลวง นายพันมือเท้าอ่อน เหงื่อโทรมกาย คิดไปคิดมาเลยร้องไห้โฮ เพราะเจ็บใจตัวเองที่มีตาหามีแววไม่ เล่นกับใครไม่เล่นไปเล่นกับเจ้าชีวิต คราวนี้อาตมาเห็นจะตายแน่ นายพันร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นที่น่าสงสาร


รุ่งขึ้น ตำรวจมาสืบหาตัวนายพัน แล้วจับกุมตัวไป นายพันหน้าซีดเหมือนคนตาย ร่ำลาลูกเมียเพื่อนฝูงเป็นการใหญ่ นึกอยู่ในใจว่าโทษของตัวต้องถึงประหาร ไม่มีทางลดหย่อนผ่อนโทษเลย ตำรวจพาตัวนายพันเข้าเฝ้าถึงท้องพระโรง นายพันเป็นลมแล้วเป็นลมอีก ล้มลุกคลุกคลานเข้าไปทีเดียว เพราะมือเท้ามันอ่อนเปลี้ยไปหมด ตำรวจต้องพยุงเข้าไป พอเข้าไปถึงพระที่นั่ง นายพันถวายบังคมท่าทางเงอะงะกราบบังคมทูลแต่อย่างเดียว ขอพระราชทานชีวิตไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นนายพัน มีพระราชดำรัสตวาดและด่าว่านายพันต่าง ๆ ตรัสว่าโทษมึงถึงประหาร กูเป็นเจ้าเหนือหัวมึงแท้ ๆ ยังทำกับกูได้ถึงเพียงนี้ มึงจะเก็บเงินกูก็จะให้ แต่เผอิญกูลืมเอาไป ผัดก่อนก็ไม่ได้ คนอย่างมึงอยู่ไปก็รกแผ่นดินกู แล้วตรัสเรียกมหาดเล็กให้หยิบถุง ๆ หนึ่งมาถวาย ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ตรัสเรียกนายพันเข้าไปใกล้ ทรงยื่นถุงให้ ตรัสว่า เอ้าเอาไปถ้าเมืองไทยมีคนทำงานตามหน้าที่อย่างมึงมาก ๆ บ้านเมืองก็เจริญ เมื่อนายพันรับถุงนั้นออกมาแล้ว ก็มีรับสั่งให้นำตัวออกไป นายพันนึกในใจว่าเขาคงเอาเราไปประหารแน่แล้ว คิดแต่เรื่องตายฝ่ายเดียว เดินกระปรกกระเปรี้ยตามตำรวจออกมานอกวัง พอพ้นวังตำรวจบอกว่า กลับบ้านได้ นายพันประหลาดใจ เอ๊ะ เรื่องมันยังไงกันหนอ พอตำรวจจากไปแล้ว ก็นึกถึงถุงที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระหัตถ์ในหลวงขึ้นได้ เกะ[แกะ]ปากถุงออกดูเห็นเป็นอัฐ จึงเทออกมานับปรากฏว่ามีทั้งหมดชั่งหนึ่งพอดี นายพันยิ้มออกมาได้ ทรุดตัวลงนั่งกลางถนนนั่นเอง บ่ายหน้าเข้าไปทางที่ประทับของในหลวง ถวายบังคม ๓ ลาแล้วเดินตัวลอยยิ้มกริ่มกลับบ้าน




นายจอห์น ลอฟตัส จะร่ำรวยจากกิจการรถรางของเขา หรือขาดทุนย่อยยับไป หรือไม่ ไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่ารถรางของนายจอห์น ลอฟตัส เดินอยู่ไม่กี่ปี ก็ต้องโอนกิจการไปให้บริษัทอังกฤษบริษัทหนึ่งดำเนินการต่อไป บริษัทที่รับช่วงงานไปจากนายจอห์น ลอฟตัส คือบริษัทบางกอก แทรมเวย์ คอมปะนี ลิมิเต็ด บริษัทนี้ปรับปรุงกิจการรถรางให้สะดวกขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ก็ยังคงใช้ม้าลากอยู่ตามเดิม ดำเนินกิจการอยู่ไม่นาน เกิดขาดทุนย่อยยับ เลยต้องโอนกิจการรถรางไปให้บริษัทของชาติเดนมาร์คอีกเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษ[ภ]าคม พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นอันว่าชั่วระยะเวลาเพียง ๔ ปี กิจการรถรางต้องเปลี่ยนมือผู้ดำเนินการถึง ๓ ครั้ง ๓ หน เริ่มจากจอห์น ลอฟตัส ผู้ริเริ่ม แล้วก็บริษัทบางกอก แทรมเวย์ คัมปะนี ลิมิเต็ด ต่อมาก็เป็นบริษัทของชาติเดนมาร์ค จะชื่อบริษัทใดยังไม่ค้นพบ บริษัทรถรางบริษัทหลังนี้ได้หยุดกิจการรถรางชั่วคราว เพื่อปรับปรุงใหม่ สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็คือ เปลี่ยนจากการใช้ม้าลาก มาเป็นใช้กำลังไฟฟ้าแทน โดยตกลงเช่ากระแสไฟฟ้าจากบริษัท อีเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี ลิมิเต็ด ภายหลังจากวางสายไฟฟ้าและปรับปรุงระบบการเดินรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว รถรางโดยกำลังกระแสไฟฟ้า ก็ได้ทำพิธีเปิดเดินเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ การใช้กำลังไฟฟ้าเพื่อกิจการรถรางนี้ใคร่จะขอเรียนให้คุณ ๆ ผู้ฟังทราบไว้ด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้กำลังไฟฟ้าในการเดินรถราง แม้แต่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่จัดระบบการเดินรถรางที่เจริญก้าวหน้าที่สุดของโลกประเทศหนึ่งในปัจจุบัน ก็เพิ่งเริ่มงานรถรางเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ อันเป็นเวลาภายหลังที่ประเทศไทยใช้กำ[ลัง]ไฟฟ้าเพื่อการรถรางถึง ๙ ปี และถ้าจะนับรวมไปถึงเวลาที่นายจอห์น ลอฟตัส เริ่มงานรถรางในเมืองไทยด้วยแล้ว อังกฤษเริ่มงานรถรางภายหลังประเทศไทยถึง ๑๕ ปี



รถรางโดยกระแสไฟฟ้าของบริษัทชาติเดนมาร์คดำเนินการมาได้ ๖ ปี คือดำเนินงานมาถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ บริษัทรถรางก็โอนกิจการเข้าไปรวมเป็นบริษัทเดียวกับบริษัท อีเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี ลิมิเต็ด กิจการของบริษัทก็เจริญและเป็นปึน[ก]แผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากจะได้ปรับปรุงรถรางสายเจริญกรุงให้ดีขึ้นเป็นที่นิยมของประชาชนแล้ว บริษัทยังได้เปิดรถรางสายสามเสนเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๔ อันเป็นเวลาภายหลังที่บริษัทรถรางชาติเดนมาร์คร่วมกับบริษัท อีเลคทริคซิตี้ คอมปะนีลิมิเต็ด เพียงปีเดียว และในปีนั้นเองบริษัทยังได้รับโอนสัมปทานการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในกรุงเทพฯ พระมหานคร ซึ่งเดิมเป็นของบริษัทชื่อบริษัทบางกอกอีเลคทริคไลท์ ซินดิเคท เข้ามารวมในกิจการของบริษัทอีกด้วย กิจการของบริษัทนี้ได้เจริญก้าวหน้าต่อมามีผลกำไรปีละไม่น้อย



จนอีก ๔ ปีต่อมา คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้มีผู้ตั้งบริษัทรถรางขึ้นอีกบริษัทหนึ่ง คือบริษัทรถรางไทย โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้เดินรถรางในกรุงเทพพระมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จในงานพระราชพิธีฝังน๊อตรางอันสุดท้าย เพื่อเป็นการแสดงว่าการก่อสร้างรางสำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ และได้เสด็จขึ้นประทับบนรถรางพิเศษ ซึ่งได้จัดที่ไว้เป็นรถพระที่นั่ง พร้อมด้วยรถตามเสด็จอีกรวม ๑๖ คัน ซึ่งแต่ละคันได้ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามมาก รถรางที่เปิดเดินสายใหม่นี้ คือรถรางสายรอบเมือง หรือที่เรียกว่าสายดุสิตนั่นเอง ตัวรถทาด้วยสีแดง จึงเรียกกันว่า รถรางสายแดง ส่วนรถรางของบริษัทเดิมทาสีเหลือง จึงเรียกกันว่า รถรางสายเหลือง กิจการของบริษัทรถรางได้ดำเนินต่อมาจนถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ อันเป็นเวลาภายหลังจากบริษัทนี้เริ่มดำเนินกิจการมาได้เพียง ๔ ปี ก็ได้โอนกิจการไปรวมกับบริษัทรถรางฝรั่งซึ่งเดินอยู่แต่เดิม คือสายเจริญกรุง และสายสามเสน เปลี่ยนนามใหม่เป็นบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัด เป็นอันว่ารถรางเหลืออยู่เพียงบริษัทเดียว สีแดงของรถรางสายดุสิตได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพื่อให้เป็นสีเดียวกัน จนถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ บริษัทจึงได้เปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งเป็นบริษัทไฟฟ้าไทยคอปอเรชั่นจำกัด และในที่สุดบริษัทนี้ซึ่งดำเนินกิจการทั้งการรถรางและการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ก็ได้โอนมาเป็นของรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และพร้อม ๆ กันนั้น รถรางก็ได้เปลี่ยนรูปลักษณะแต่เดิมมาเป็นแบบใหม่ดังเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดี ตัวถังรถรางแบบเก่าก็ยังมีอยู่พอให้เห็นได้บ้างเป็นบางคันจนทุกวันนี้



อนึ่ง สำหรับในต่างจังหวัดนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการคมนาคมแก่ประชาชน รัฐบาลดำริที่จะขยายการรถรางออกไปยังต่างจังหวัดด้วย และได้เริ่มดำเนินการที่จังหวัดลพบุรีเป็นจังหวัดแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยเปิดเดินตั้งแต่ศาลพระกาฬตลอดไปจนถึงกองพันทหารราบที่ ๖ แล้วต่อมาได้ขยายทางต่อจากศาลพระกาฬเข้ามาในตัวเมืองลพบุรีจนถึงโบสถ์พราหมณ์ ส่วนในรูปลักษณะของรถรางเมืองลพบุรี และดำเนินกิจการนั้น ก็คงจะเหมือนกับรถรางในกรุงเทพฯ


ลพบุรีก็มีรถราง 


ในสมัยที่รถรางเริ่มมีในเมืองไทยใหม่ ๆ นั้น ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชนทั่ว ๆ ไป เพราะยานพาหนะอื่น ๆ ยังไม่มี หรือมีแต่ไม่มาก แต่เนื่องจากระยะแรกในกรุงเทพพระมหานคร ผู้คนยังไม่มาก ผู้โดยสารน้อย การรถรางจึงล้มลุกคลุกคลานตลอดมา คือมีแต่ทรงตัวกับทรุด เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ เล็กน้อย ผู้คนในพระนครชักมีหนาแน่นขึ้น กิจการรถรางจึงค่อยกระเตื้องขึ้นบ้าง เพราะมีคนโดยสารมากพอสมควร แต่ก็เผอิญยานพาหนะอื่น มีสามล้อ รถแท๊กซี่ และรถประจำทางเป็นต้น ก็มามีเพิ่มมากขึ้นด้วย รถเหล่านั้นจึงแย่งผู้โดยสารรถรางไปเสียมาก เพราะรวดเร็วและสะดวกสบายกว่ารถรางหลายประการ เหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนเปลี่ยนจากการโดยสารถรางไปโดยสารรถอื่นมากก็คือ รถรางช้าเมื่อตอนรอหลีก ไม่เหมาะแก่การไปไหนมาไหนในเวลาน้อย หรือเวลารีบด่วน ฉะนั้นเมื่อมีรถโดยสารอื่น ๆ มาแข่งขัน ความสนใจของประขาขนต่อการรถรางจึงดูเนือย ๆ ไป จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยานพาหนะอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากต้องอาศัยน้ำมันเป็นเชื้อเพลิง น้ำมันส่งมาจากต่างประเทศไม่ได้ ก็เลยต้องหยุดวิ่งกันไปหมด รถที่ไม่ได้อาศัยน้ำมัน เป็นต้นว่ารถสามล้อ รถเจ๊ก และรถม้าเริ่มตื่นตัว เจ้าของรถเหล่านั้นยิ้มย่องผ่องใสหน้าบานไปตาม ๆ กัน เพราะหาเงินได้คล่อง แต่รถสามล้อนั้นตอนปลายสงครามขาดแคลนยาง ที่มีอยู่ก่อนก็ร่อยหรอหมดไป หาที่ซื้อใหม่ไม่ได้ ก็เลยแย่ไปเหมือนกัน เห็นยืนยงคงทนอยู่ก็รถเจ๊ก และรถรางนี่แหละ พูดถึงรถรางซึ่งเป็นรถโดยสารซึ่งแม้จะช้าหน่อย แต่ก็ซื่อสัตย์ ยืนหยัดบริการอยู่ได้ตลอดมา แต่ตอนปลาย ๆ สงครามชักแย่ลงไปเหมือนกันเนื่องจากกระแสไฟฟ้าไม่พอ หลายสายต้องหยุดเดิน บางสายก็ลดจำนวนให้น้อยลง นั่งรถรางสมัยไหนไม่ยากแค้นลำเค็ญเท่ารถรางสมัยสงคราม เพราะผู้คนแออัดยัดเยียดแน่นขนัดไปหมด บางทีขึ้นไปได้แล้วลงไม่ได้ เพราะคนแน่นต้องลงทางหน้าต่างก็มี บางทีเวลารถวิ่งต้องห้อยโหนเกาะตัวถังรถรางเป็นพวง บางครั้งพลัดตกลงมาแขนหักคอหักตายก็มีบ่อย ๆ อาชีพล้วงกระเป๋าก็เจริญขึ้นในตอนสงครามนี่เอง และงอกงามมาจนกระทั่งเลิกสงครามแล้ว



ก่อนจะจบเรื่องรถรางขอเล่าเกร็ดเกี่ยวกับรถรางให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้จำเขามา ผิดถูกอย่างไรไม่รับรอง เล่าว่ามีชายแก่ชาวบ้านนอกคนหนึ่งไม่เคยเข้ามาในกรุงเทพฯ เลย เพื่อนบ้านเล่าให้ฟังว่าไปบางกอกต้องนั่งรถราง ไม่เช่นนั้นไม่เรียกว่าได้ไปบางกอก ชายคนนั้นถามว่า รถรางรูปร่างมันเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่ามันวิ่งตามรางเหมือนรถใหญ่ (คือรถไฟ) แต่ว่ารถรางมีเสากระโดงด้วย เวลาจะขึ้นรถรางต้องไปรออยู่ที่ธงแดง พอมันวิ่งมาก็ยกมือขึ้น แล้วมันจึงจะหยุดรับ ชายแก่ได้ความรู้เรื่องรถรางเพียงเท่านี้ วันหนึ่ง เดินทางเข้ามาบางกอก พอออกจากสถานีศีรษะลำโพงก็เจอรถราง แลเห็นเสากระโดง แลเห็นรางเหมือนรถใหญ่ ก็นึกในใจว่า อ้อนี่รถรางตามที่เขาว่าละ ให้อยากขึ้นเป็นกำลัง แกเดินไปตามรางจนพบธงแดงหน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งก็ยืนรออยู่ตรงนั้น พอรถรางวิ่งผ่านมา แกก็ยกมือโบก แต่เจ้ากรรมรถรางมันไม่หยุด เอ หรือมันไม่เห็น ยืนรอต่อไป อีกครู่หนึ่งรถรางผ่านมาอีก โบกมืออีก มันก็ไม่หยุด ว๊ะ ชักฉิว เห็นเราเป็นคนบ้านนอกคอกนาหรือไง ชักเกลียดขี้หน้าอ้ายพวกรถรางขึ้นมาทันที เผอิญมีคนผ่านมา ก็ถามเขา พ่อคุณยกมือแล้วทำไมรถรางมันไม่หยุดล่ะ เขาตอบว่าต้องไปรอที่ธงแดงซีลุง เอ้า นี่ไม่ใช่ธงแดงหรือ พูดพลางแกก็ชี้ให้ดู เขาหันไปดูตามที่แกชี้ แล้วก็หันมาพูดพลางหัวเราะพลางว่า นี่ไม่ใช่ธงรถรางหรอกลุง เป็นธงร้านขายเหล้าเขาตาหาก ลุงถึงครางออกมา งั้นเรอะ ว่าแล้วแกก็หันหลังเดินหงุด ๆ จากไป ไม่ได้ไปรอขึ้นรถรางหรอก แต่ไปนั่งโจ้เหล้ากรึ่มอยู่คนเดียวในร้านนั้นเอง

คัดลอกเนื้อหาจาก วิกิซอร์ซ

                                                                         ----------------------------------













































































--------------------------
























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น