คลังบทความของบล็อก

20 พฤศจิกายน 2561

ลิเกหลวงสันท์ สมัยรัชกาลที่ 5

                                    วิกยี่เกหลวงสันท์ ริมคลองสะพานหัน


นอกจากภาพจำเกี่ยวกับตลาดสะพานหันแล้ว ความประทับใจอีกสิ่งหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในย่านสะพานหันของคุณหญิงศรีศิริก็คือ ชีวิตในวิกยี่เกหลวงสันท์ โรงมหรสพของครอบครัวเครือญาติที่เกาะเกี่ยวดำเนินกิจการอยู่ในย่านสะพานหัน เป็นวิกลิเกดังโรงหนึ่งในยุคที่ลิเกทรงเครื่องกำลังเฟื่องในพระนคร

ลิเกหรือยี่เกเป็นมหรสพที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า “มาจากเพลงสวดของแขก ส่วนการแสดงน่ะยี่เกน่ะไทยแท้...” โดย อาจารย์สุรพล  วิรุฬห์รักษ์ ผู้ค้นคว้าเรื่องลิเก อ้างถึงหนังสือ สาส์นสมเด็จ ระบุว่า กำเนิดมาจากการสวดอย่างอิสลามในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ แล้วการสวดนี้ก็พัฒนาแตกแขนงเป็น “ลิเก” และ “ลำตัด” ต่อมาการแต่งกายของลิเกทรงเครื่องทั้งหญิงชาย ดูแพรวพราวงดงามแบบเครื่องละคร  ในยุคนั้นผู้แสดงยังเป็นชายล้วน




การแสดงลิเกในระยะแรกมี ๒ ชนิด คือ ลิเกบันตนและลิเกลูกบท (อ่านรายละเอียดใน ลิเก โดย สุรพล วิรุฬห์รักษ์์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ, ๒๕๒๒.) แต่งตัวธรรมดา แต่สีสันสดใส มาถึงยุคพระยาเพชรปาณี (ตรี) เจ้าของวิกหน้าวัดราชนัดดา ได้คิดเครื่องแต่งกายใหม่อย่างหรูหรา สวมปันจุเหร็จยอด ใส่เสื้อเยียรบับ นุ่งโจงผ้ายก สวมถุงเท้าขาว ประดับสังวาลนพรัตน์กำมะลอ เลียนแบบเครื่องแต่งกายขุนนาง  ท้าวพญามหากษัตริย์ อันเรียกได้ว่าเป็นการแต่งองค์ทรงเครื่อง ชาวบ้านทั้งหลายจึงเรียกว่า “ลิเกทรงเครื่อง” ที่นอกจากจะปฏิวัติการแต่งกายแล้ว ยังเล่นแสดงเป็นเรื่องแบบละคร อีกทั้งมีการรำนิดๆ หน่อยๆ ดำเนินเรื่องเร็ว แทรกการเล่นตลกขบขัน เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านร้านตลาด จนเกิดวิกยี่เกหลายแห่งในช่วงสมัยนั้น 



ภาพถ่าย สะพานหันสมัยรัชกาลที่ 5
ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ


หนึ่งในนั้นก็คือ วิกของหลวงสันทนาการกิจ (โหมด ภูมะธน) ข้าราชการในกระทรวงทหารเรือ ที่บ้านและวิกของท่านตั้งอยู่ริมคลองสะพานหัน ใกล้สะพานภาณุพันธุ์ โดยมีภรรยาของท่าน คือ อำแดงทับทิม เป็นโต้โผใหญ่ประจำโรงยี่เก ซึ่งคุณหญิงศรีศิริเรียก ย่าทับทิม ด้วยท่านเป็นธิดาของหลวงสุนทรโกษา (จาด คุ้มเกษ) ผู้เป็นทวดของคุณหญิง

“บ้านหลวงสันท์อยู่ด้านในตลาด ติดกับพวกสิงหเสนีเป็นบ้านไม้ใหญ่แบบโบราณ ส่วนตัววิกอยู่ข้างหน้าบ้าน คุณย่าเป็นคนดูแล ตกเย็นญาติ  พี่น้องต้องมาทำโรงลิเกกันหมด มาทำฉาก ซ่อมประตู กวาดโรง เก็บเงินหน้าโรงวิก ทำกับข้าวกับปลาเลี้ยงคนแสดง แม่ดิฉันถูกมอบหมายให้เป็นคนเก็บเงินค่าเข้าชม ตัวดิฉันก็เลยวิ่งเล่นอยู่แถวนี้ พอตอนหลังวิกเลิกมีคนมาเช่าแล้วจึงรื้อทำโรงหนัง ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าสะพานหันไง  เท่าที่ทราบเดิมวิกเคยอยู่ที่ประตูสามยอด”


ภาพนี้เป็นบรรยากาศหน้าโรงลิเกของคณะเพชรปาณี


คุณหญิงศรีศิริรื้อฟื้นความทรงจำในวัยเด็ก ซึ่งหลายสิ่งเป็นสิ่งที่ฟังผู้ใหญ่เล่ามา โดยเฉพาะเรื่องวิกที่เคยอยู่ประตูสามยอดนั้น จากการสัมภาษณ์คุณถิน และคุณพงษ์สิทธิ์ ภูมะธน ซึ่งเป็นหลานของย่าทับทิมได้คำชี้แจงว่า วิกยี่เกหลวงสันท์อยู่สะพานหันมาแต่แรก วิกประตูสามยอดเป็นของหม่อมสุภาพ กฤดากร หม่อมในกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ (ต้นสกุลกฤดากร) ซึ่งเป็นยี่เกโรงใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๖ ด้วยมีการปรับปรุงการเล่นใกล้ละครรำมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบแผนในการรำ การที่คุณหญิงเข้าใจผิดว่าเคยอยู่ประตูสามยอดก็เนื่องจากย่าทับทิมรับกิจการยี่เกของหม่อมสุภาพมาดำเนินการต่อนั่นเอง และนี่อาจเป็นที่มาที่ห้ามไม่ให้ลิเกโรงนี้ร้องเพลงรานิเกลิงของนายดอกดิน เสือสง่า ด้วยเห็นว่าเป็นลิเกบ้านนอก ลิเกเร่ร่อน

 หม่อมสุภาพ กฤดากร เจ้าของวิกประตูสามยอด  ที่ได้ชื่อว่าเป็นคณะที่มีการจัดระเบียบแบบแผนการรำให้กับลิเกทรงเครื่อง  คุณถินยังบอกอีกว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีการสวนสนามทหารหน้าวิก บนถนนเยาวราช พวกลิเกจึงพากันออกมารำ เอาดอกไม้ไปยื่นให้เจ้าพระยาเทพหัสดิน(ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และที่จำได้วิกหลวงสันท์กลางวันเป็นบ่อนปลากัด กลางคืนจึงเป็นวิกยี่เก

 ขณะที่คุณพงษ์สิทธิ์ว่า ก่อนเปิดวิกทุกครั้งต้องมีโหมโรง เล่นดนตรีตีระนาดเรียกคน เริ่มเล่นราวทุ่มสองทุ่ม จุดตะเกียงเจ้าพายุเล่น เล่นกันถึงเที่ยงคืนก็เลิก  สมัยนั้นคนสะพานหันจะมีคำพูดที่รู้จักกันทั่วย่านว่า “หน้าพ่อพัก” คือ หน้าสวยขึ้นเครื่องลิเก เพราะพ่อพักเป็นพระเอกประจำวิกหลวงสันท์ คู่กับนางเอกชื่อนายเจือ เป็นชายแต่เล่นเป็นหญิง เนื่องจากสมัยนั้นการเล่นยังไม่ได้ใช้ชายจริงหญิงแท้ คนดูส่วนใหญ่จึงเป็นหญิง เป็นแม่ยกเยอะ และตัวแสดงที่สำคัญอีกตัว เป็นตัวโกงชื่อ ตารวน เวลาเดินเข้าตลาดสะพานหัน พวกแม่ค้าเห็นต้องถ่มน้ำลายรดพื้น เพราะไม่ชอบใจ ด้วยอินกับบทโกงของแก ถึงกับเล่าต่อๆ กันว่า เวลาแสดงตามท้องเรื่อง คนดูถึงกับขว้างกระป๋องน้ำหมากใส่แกขึ้นไปบนเวที แกก็มีปฏิภาณไว เอามือป้องปากบอกคนดูว่า “คุณน้าให้รางวัลผมอีกแล้ว”



ภาพถ่ายนักแสดงลิเก
ภาพประกอบเนื้อหาจาก มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์


พ่อพักและนายเจือนี้ ถือเป็นศิลปินลิเกมีชื่อดังมากในยุคลิเกทรงเครื่อง ในหนังสือ ลิเก ของสุรพล วิรุฬห์รักษ์ ระบุว่าทั้งคู่เป็นผู้คิดทำหลอดไฟฟ้าดวงเล็กๆ มาประดับแซมเครื่องเพชรให้คนดูตื่นเต้นกับความวูบวาบของแสงสี และมาตอนหลังทั้งคู่ไปเล่นที่วิกเมรุปูน วัดสระเกษ ลิเกหอมหวนเมื่อเข้ามาเล่นในกรุงเทพฯ ที่วิกตลาดทุเรียน บางลำพู ยังต้องแข่งขันกับนายพัก นายเจือ ทำให้หอมหวลหาทางเล่นใหม่ โดยมีการปรับเครื่องแต่งกาย ลดการรำลง และด้นกลอนเข้าสู้ จนกล่าวว่า ใครอยากดูลิเกรำก็ไปดูนายพักนายเจือ ใครอยากฟังกลอนเด็ดๆ ก็มาดูลิเกหอมหวล

ความดังของตัวเอกวิกหลวงสันท์นี้แหละเป็นเหตุให้วิกหลวงสันท์ ต้องเลิกไป เพราะ “เจ๊ง” ด้วยค่าตัวพระเอกสูงถึงวันละ ๘ บาท และต้องง้อให้เล่นตลอดเวลา อีกทั้งโต้โผก็ชรามากแล้ว ตัวแสดงในโรงก็มีถึง ๓๐ กว่าชีวิต ดูแลไม่ไหว จึงขายคณะยี่เกให้กับแม่ของคุณพงษ์สิทธิ์ชื่อแม่ทองอยู่ ซึ่งท่านได้นำเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์ลงไปเล่นที่นครศรีธรรมราช โดยไม่มีวิกแน่นอน รับเล่นไปเรื่อยใช้ชื่อ วิกแม่ทองอยู่ แสดงอยู่ ๔-๕ ปีก็เลิกในที่สุด เรื่องราวของวิกหลวงสันท์จึงลาโรงอย่างสมบูรณ์ 

เอกสารค้นคว้า

กาญจนาคพันธุ์ (นามแฝง). “สามเพ็ง”, เมืองโบราณ ปีที่ ๕  ฉบับที่  ๖ (ส.ค.-ก.ย. ๒๕๒๒).    

สุรพล วิรุฬห์รักษ์, ลิเก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ห้องภาพสุวรรณ, ๒๕๒๒.

สัมภาษณ์คุณหญิงศรีศิริ กฤษณจันทร วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๘.

สัมภาษณ์คุณพงษ์สิทธิ์ ภูมะธน วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙.

บทสัมภาษณ์คุณถิน ภูมะธน โดย อาจารย์ภูธร ภูมะธน.

ขอขอบคุณ : คุณหญิงศรีศิริ กฤษณจันทร, คุณพงษ์สิทธิ์ ภูมะธน          

ขอขอบคุณภาพประกอบเนื้อหาจาก  มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ขอขอบคุณ  ภาพจากบทความของอาจารย์  สุจิตต์ วงษ์เทศ : มิวเซียมลิเก ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ มีลิเกเล่นประจำ ไม่ไล่รื้อชุมชน



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น