คลังบทความของบล็อก

18 พฤศจิกายน 2561

อาจินต์ ปัญจพรรค์ สิ้นแล้ว

สิ้นศิลปินแห่งชาติ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ เจ้าของผลงานอมตะเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่





เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงการวรรณกรรมไทยสูญเสียครั้งใหญ่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เจ้าของผลงานอมตะเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ และอดีตบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่ง จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 17.44 น. วันที่ 17 พ.ย. สิริอายุ 92 ปี โดยมีพิธีรดน้ำวันที่ 18 พ.ย.เวลา 16.00 น. ณ วัดตรีทศเทพ ศาลา 9

         สำหรับประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2470 เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงเวลาไปทำงานเหมืองแร่ที่ จ.พังงา เขียนเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ โดยผลงานเรื่องแรก เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก ตีพิมพ์ในพิมพ์ไทย มีผู้สนใจมาก และเมื่อเหมืองแร่เลิกกิจการ เดินทางกลับมากรุงเทพมหานคร มีผลงานทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นตีพิมพ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ พิมพ์ในนิตยสารชาวกรุง จากนั้นทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม ทำหน้าที่เขียนผังรายการโทรทัศน์ และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ไทยโทรทัศน์รายเดือน ของสถานีฯ



ต่อมาตั้งสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์เรื่องสั้นของตนเอง โดยเริ่มระบบเขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง ในราคาเล่มละ 5 บาท เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า โอเลี้ยง 5 แก้ว ก่อนร่วมหุ้นตั้งโรงพิมพ์อักษรไทย และทำนิตยสาร ฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นที่นิยมมาก ตามด้วย ฟ้าเมืองทองรายเดือน, ฟ้านารีรายเดือน และฟ้ารายเดือน ตลอดเวลาได้สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้โด่งดังเป็นจำนวนมาก สำหรับผลงานหนังสือ นอกจากรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ยังมีนิยายเจ้าพ่อ-เจ้าเมืองโด่งดัง รวมถึงผลงานประพันธ์เพลง อาทิ สวัสดีบางกอก, มาร์ชลูกหนี้ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน และอาณาจักรผีๆ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง แม่นาคพระนคร เป็นต้น

     สำหรับนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” รายสัปดาห์ ออกฉบับปฐมฤกษ์ วันจักรี 6 เมษายน พ.ศ. 2512 ในราคาเล่มละ 3 บาท เป็นที่นิยมมาก 
ต่อมาได้ออกหนังสือเล่มใหม่ โดย สุพล เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เป็นผู้ลงทุน “ฟ้าเมืองทอง” รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ เมษายน พ.ศ. 2519 ประสบผลสำเร็จ จึงออก “ฟ้านารี” รายเดือนให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอีกหนึ่งฉบับ มีศรีเฉลิม สุขประยูร เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ได้ไม่นานก็เลิก ภายหลังทำ “ฟ้าอาชีพ” รายเดือนอีกระยะหนึ่ง ก็หยุดทำ “ฟ้าเมืองทอง” ส่วน “ฟ้าเมืองไทย” มาสิ้นสุดตอน ตุลาคม พ.ศ. 2531 ผู้อ่านแสดงความรู้สึงเสียดาย จึงตัดสินใจทำนิตยสาร “ฟ้า” รายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ มกราคม พ.ศ. 2532 ผลิตและจำหน่าย 3 ปีก็ยุติลง ตุลาคม พ.ศ. 2543 ตลอดเวลาได้สร้างนักเขียนรุ่นใหม่ให้โด่งดังเป็นจำนวนมาก




ผลงานโดดเด่นคือการได้เป็นบรรณาธิการ นิตยสารฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ได้รับความนิยมอย่างสูง เมื่อ พ.ศ. 2512-2531  รางวัลที่ได้รับล้วนเป็นรางวัลจากการเขียนวรรณกรรม คือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2534 และ รางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2535   สำนักข่าว SBN ขอร่วมไว้อาลัย และแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” มา ณ ที่นี้ด้วย




ขอขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น