คลังบทความของบล็อก

19 พฤศจิกายน 2561

วันนี้ไม่มี เวนิสตะวันออก

               เมืองไทยในอดีต : บอกลาเวนิสตะวันออก (รวมภาพคลองในบางกอก)



ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ วิถีสัญจรของบางกอกส่วนใหญ่ฝากไว้กับสายน้ำ ภูมิประเทศแบบที่ลุ่มอุดมไปด้วยลำคลองหนองบึงของกรุงเทพฯ หล่อหลอมให้ชีวิตชาวเมืองผูกผสานกลมกลืนไปกับสายน้ำ เรือสารพัดประเภทสะท้อนภาพความหลากหลายและรสนิยมละเมียดละไมแห่งวิถีชโลธร เช่นเดียวกับพัฒนาการของ “เมืองน้ำ” ซึ่งชาวเมืองส่วนใหญ่ลงหลักปักฐานบนเรือแพสองฝากฝั่ง ทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองสาขา เนื่องจากใช้เป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งสินค้าเกษตรได้สะดวก

ตลาดนํ้าวัดไทร ธนบุรี ราว พ.ศ. 2500

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังมีการขุดคูคลองขึ้นมากมาย อาทิ คลองคูเมือง (คลองบางลำพูหรือ คลองโอ่งอ่าง ขุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และคลองผดุงกรุงเกษม (ขุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) อันเป็นผลจากพระบรมราโชบายในการสร้างแนวป้อมปราการป้องกันเมืองและธรรมเนียมการสร้างเมือง คลองหลอดเปรียบเสมือนทางด่วนลัดคลองมหานาคขุดเพื่อเป็นแหล่งบันเทิงยามหน้าน้ำและเชื่อมไปยังปริมณฑล คลองแสนแสบขุดเพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ในการศึก คลองภาษีเจริญขุดเพื่อลำเลียงน้ำตาลจากสมุทรสาครเข้ามา นอกจากนี้ยังมีคลองซอยมากมายที่ใช้สัญจรเสมือนถนนในปัจจุบัน


ถนนสีลมในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงสภาพตามธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี ถนนสีลมเดิมชื่อ “ถนนขวาง” เป็นเพียงคันดินจากการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองบางรักกับคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน) ชื่อสีลมมาจากโรงสีข้าวพลังงานลมซึ่งเป็นกิจการของชาวต่างชาติในย่านดังกล่าว



แม้ก่อนหน้านั้นจะมีถนนที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง (ถนนอมรวิถี ถนนจักรีจรัล และถนนเขื่อนขัณฑ์นิเวศน์) แต่ยังไม่มีผลต่อการพัฒนาการของเมืองเนื่องจากใช้สัญจรในพระราชวังเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถนนซึ่งสร้างล้อมรอบพระราชวังเพื่อเป็นแนวป้องกันพระราชวังกับบ้านเรือนราษฎรจากเพลิงไหม้และเป็นเครื่องประดับพระราชวังตามคติเดิม (ถนนหน้าพระลาน ถนนท้ายวัง ถนนมหาราช และถนนสนามไชยในปัจจุบัน) ก็เป็นปฐมบทแห่งวิถีบก และมีราษฎรนิยมมาเดินเล่นจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องสั่งห้าม
แล้วใครต้องการถนนกันเล่า ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างสยามกับอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2398 เปรียบได้กับการเปิดประเทศครั้งใหญ่ สถานกงสุลผุดขึ้นทางใต้พระนครมากขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนชาวตะวันตกในกรุงเทพฯ พวกเขานำวิทยาการและวัฒนธรรมใหม่เข้ามาด้วย หนึ่งในนั้นคือรสนิยมชอบขี่ม้าเพื่อหย่อนใจเช่นเดียวกับวิทยาการใหม่อย่าง “รถม้า”



ภูเขาทองวัดสระเกศตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังคลองรอบกรุงช่วงรอยต่อกับคลองมหานาค คลองทั้งสองขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของชาวกรุง



ทว่าในสมัยนั้นถนนยังขรุขระและเหมาะสำหรับย่ำด้วยเท้าเปล่า พวกเขาจึงไม่มีถนนสำหรับห้อม้าหรือแล่นรถ บ่อยครั้งที่พวกเขารุกล้ำลานกว้างหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์หรือที่เรียกว่าท้องสนามไชยซึ่งเป็นที่โล่งกว้างสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอหัดทรงม้าทรงช้าง สร้างความขุ่นเคืองพระราชหฤทัย จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องตรัสปลอบประโลมว่า “เขาเป็นชาวต่างชาติไม่รู้ขนบธรรมเนียมกฏหมายไทย”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกงสุลยุโรปเข้าชื่อกันเพื่อทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดถนน “ที่จะได้ใช้ม้า ใช้รถ ถูกลมเย็นเส้นสายเหยียดยืดสบายดี” จึงสอดคล้องกับพระราชประสงค์พอดีกอปรกับช่วงนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) สมุหพระกลาโหม ได้เดินทางไปดูงานที่สิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2404 และนำการออกแบบตึกแถวกลับมาเผยแพร่ นับแต่นั้น วิถีสัญจรแห่งบางกอกจึงเริ่มยกพลขึ้นบก



ถนนเจริญกรุงชั้นนอก (จากคลองรอบกรุง บริเวณสะพานดำรงสถิต ไปจรดถนนพระรามที่ 4 ที่คลองผดุงกรุงเกษม ตรงหัวลำโพง) และถนนเจริญกรุงตอนใต้ (แยกจากถนนเจริญกรุงชั้นนอกบริเวณวัดไตรมิตร ขนานแม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมใต้วัดมหาพฤฒารามไปจรดถนนตกที่บางคอแหลม) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2404 โดยอาศัยเงินผูกปี้จีนปีระกาและใช้แรงงานชาวจีนเป็นส่วนใหญ่


หลังจากการตัดถนนเหล่านี้เสร็จและฝรั่งได้ควบม้ายืดเส้นยืดสายแล้ว ตึกแถวซึ่งสร้างตามแบบแปลนจากต่างประเทศได้ถือกำเนิดขนาบข้างถนนด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานตึกแถวเหล่านี้แก่พระเจ้าลูกยาเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร พร้อมทั้งทรงถวายวัด ตึกแถวส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งร้านค้าของชาวจีนและห้างของฝรั่งซึ่งจ่ายค่าเช่าให้พระคลังข้างที่



การตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีไม่น้อยกว่า 110 สาย นับเป็นยุคแห่งการก้าวกระโดดสู่วิถีบก อย่างไรก็ดี ในเวลานั้นมีการถมลำคลองหนองบึงน้อยมาก เนื่องจากการประปายังไม่ทั่วถึง อีกทั้งชาวเมืองยังต้องใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมและที่อยู่อาศัย สวนทางกับกำแพงเมืองและป้อมปราการจำนวนมากที่ถูกทุบทำลายเพื่อนำอิฐและปูนมาเป็นวัสดุทำถนน


การตัดถนนในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ทำให้ลำคลองจำนวนมากถูกถม เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก ง่ายดาย และประหยัดต้นทุน เมื่อมองจากแผ่นที่ทางอากาศ กรุงเทพฯจึงยึดโยงกันด้วยถนนและตรอกซอยอันซับซ้อน

จากเมืองไทยในอดีตจนมาถึงทุกวันนี้ ถนนในกรุงเทพฯ เพียงพอแล้วหรือยัง

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพบางส่วนจาก NATIONAL GEOGRAPHIC ASIA













































































----------------------------























































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น