คลังบทความของบล็อก

20 พฤศจิกายน 2561

เล่าเรื่องแม่นํ้าของและคง

                                                        ตำนานคงของ


มีเรื่องที่เล่ากันมานานในหมู่คนแห่งลุ่มน้ำโขงและสาละวินว่า แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินไม่ถูกกัน หากเดินทางในแม่น้ำโขงห้ามพูดถึงแม่น้ำสาละวิน หากเดินทางในแม่น้ำสาละวินห้ามพูดถึงแม่น้ำโขง
คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำโขงว่า "ของ" และเรียกแม่น้ำสาละวินว่า "คง"
ชาวไทยใหญ่เล่ากันว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว..... เมื่อแผ่นดินยังไม่มีสายน้ำ ของและคงเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองอาศัยอยู่บนแผ่นดินที่ราบสูงธิเบต วันหนึ่งทั้งสองแข่งขันกันว่าใครจะเดินทางไปถึงทะเลก่อนกัน แต่มีข้อแม้ว่าการเดินทางจะต้องผ่านหุบเขาและที่ราบ ห้ามเดินทางลัดภูเขา

การเดินทางไปสู่ทะเลเริ่มต้นขึ้น เส้นทางของทั้งสองแทบจะขนานกัน แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.....

ของเดินทางไปเรื่อยๆ มุ่งใต้ผ่านหุบเขาแห่งที่ราบสูงฉานฝั่งตะวันออก และยึดมั่นในข้อตกลงว่า ไม่ไหลตัดผ่านภูเขา ของเดินทางผ่านหุบเขา ที่ราบสูง และที่ราบลุ่มมากมาย จนกระทั่งถึงทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม

เส้นทางที่ไหลผ่านได้กลายมาเป็น "แม่น้ำโขง" สายน้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสายน้ำโขงไหลผ่านหุบเขาและที่ราบ สีของแม่น้ำโขงจึงเป็นสีขุ่น สีปูน หรือสีน้ำซาวข้าว

ขณะที่คงมุ่งลงใต้เช่นกัน แต่กลับเดินทางตัดผ่านภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ก่อนที่จะผานที่ราบเพียงเล็กน้อยและไหลลงทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ

เส้นทางที่คงเดินทางผ่านนั้น ได้กลายมาเป็น "แม่น้ำคง" ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกกัน หรือ "แม่น้ำสาละวิน" ที่เพี้ยนมาจากคำว่า "ตาลวิน" ในภาษาพม่า แม่น้ำสาละวินเป็นสายน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากแม่น้ำโขง

เนื่องจากคงไหลตัดผ่านภูเขา น้ำสาละวินจึงมีสีเขียวมรกตไม่ค่อยขุ่นข้น

ของแพ้คงเพราะใช้เวลาและระยะทางในการเดินทางไปถึงทะเลมากกว่า เมื่อของรู้ว่าเพื่อนไม่ซื่อสัตย์ จึงโกรธแค้นและสาปแช่งว่า "วันใดที่เจอกับคง แผ่นดินจะลุกไหม้ด้วยไฟประลัยกัลป์"

ความโกรธแค้นนี้ ทำให้มีเรื่องเล่ากันว่า หากนำน้ำจากแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินมาใส่รวมกัน น้ำจะกลายเป็นสีเลือด หากใส่แก้ว แก้วจะแตก   ตำนานนี้ถูกเล่าขานกันมานานในหมู่คนริมฝั่งแม่น้ำทั้งสอง





แม่นํ้าของ หรือแม่นํ้าโขง

  แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศไทย บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่



ลุ่มแม่น้ำโขงสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ลุ่มน้ำโขงตอนบน (Upper Mekong Basin) และลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) โดยลุ่มน้ำโขงตอนบนเริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงในประเทศทิเบต และประเทศจีน ส่วนลุ่มน้ำโขงตอนล่างเริ่มตั้งแต่มณฑลยูนนานในประเทศจีนไหลผ่านประเทศ เมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ 

 ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงประกอบไปด้วยประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ส่งผลให้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งมีปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลก นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 430 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 800 ชนิด นก 1,200 ชนิดพันธุ์ และพันธุ์พืชอีกกว่า 20,000 ชนิด ในทุกปี นักวิทยาศาสตร์จะระบุชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้รับการค้นพบเพิ่มขึ้นและระบุถึงจำนวนชนิดพันธุ์ที่ยังคงรอการค้นพบ โดยในระหว่างปี พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2557 มีชนิดพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการค้นพบมากถึง 2,216 ชนิดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าวของแม่น้ำโขงส่งผลให้ช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้กับไร่นาด้วยตะกอนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำก็เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญให้กับการอุตสาหกรรม ช่วยกรองน้ำและฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ รวมถึงการปกป้องเมืองต่างๆ จากภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยและวาตภัย ผู้คนประมาณร้อยละ 80 จากทั้งหมด 300 ล้านคนในภูมิภาคนี้ ต่างพึ่งพาอาศัยระบบธรรมชาตินี้โดยตรงในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร วิถีชีวิต และประเพณีวัฒนธรรม

นอกจากนี้ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Basin) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นทั้งแหล่งน้ำ แหล่งโปรตีน แหล่งพันธุ์ปลา พันธุ์พืช และสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนมากกว่า 60 ล้านคน เป็นแหล่งโปรตีนของผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมากถึงร้อยละ 47-80 โดยมีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 127,000 – 231,000 ล้านบาท




แม่นํ้าคง หรือแม่นํ้าสาละวิน


แม่นํ้าสาละวิน เป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ยาว 2,800 กิโลเมตร   และเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รองมาจากแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะเหนือเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่านมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่ซึ่งเรียกแม่น้ำนี้ว่า นู่เจียง (อักษรจีน: 怒江) หมายถึง "แม่น้ำพิโรธ"   และผ่านประเทศพม่าผ่านรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดน ระหว่างพม่ากับไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินจึงไหลวกกลับเข้าประเทศพม่า และไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ รัฐมอญ
แม่น้ำสาละวินมีต้นกำเนิดที่เดียวกับแม่น้ำโขง และแม่น้ำแยงซี โดยแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนจากต้นกำเนิด และเนื่องจากเป็นน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะ อุณหภูมิของน้ำในแม่น้ำสาละวินจึงมีความเย็นกว่าน้ำในแม่น้ำอื่น ๆ ในประเทศไทย บางช่วงมีความลึกมากและน้ำไหลแรง




นอกจากนี้ ในประเทศ จีน แม่น้ำสาละวิน เป็น 1 ในแม่น้ำ 3 สาย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น "มรดกโลก" ร่วมกับ แม่น้ำโขง และ แม่น้ำแยงซี ในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน โดยพื้นที่ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งบนโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลายหลายทางชีวภาพสูง

ลำน้ำสาขา
ลำน้ำสาขาซึ่งไหลลงแม่น้ำสาละวินทั้งทางตรงและทางอ้อม แบ่งตามระบบลุ่มน้ำประธาน ประกอบด้วย

ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำสาละวิน
แม่น้ำปาย ต้นกำเนิดจากทิวเขาถนนธงชัย ใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ไหลลงทางใต้ของแม่น้ำสาละวินในพม่า
แม่น้ำยวม ต้นน้ำจากเขาที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ไหลลงแม่น้ำเมยที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
แม่น้ำเมย ต้นน้ำเกิดที่โคดโพโชในประเทศพม่า แล้วไหลเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าใน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน แล้วไหลเข้าประเทศพม่าลงสู่แม่น้ำสาละวิน


ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก Wikiwand , Wikipedia










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น