คลังบทความของบล็อก
28 สิงหาคม 2562
ทำไมจังหวัดอุบลฯ ลงท้ายด้วย “ราชธานี” ทั้งที่ไม่ใช่เมืองหลวง ?
ทำไมจังหวัดอุบลฯ ลงท้ายด้วย “ราชธานี” ทั้งที่ไม่ใช่เมืองหลวง ?
ในบรรดาจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย มีเพียงจังหวัด “อุบลราชธานี” จังหวัดเดียวที่ลงท้ายว่า “ราชธานี” ซึ่งแปลว่าเมืองหลวง แม้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ธนบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในอดีต และเป็นเมืองหลวงในปัจจุบันก็ไม่ลงท้ายว่า “ราชธานี”
คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เติม วิภาคย์พจนกิจเขียนไว้ใน “ประวัติศาสตร์อีสาน” (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2530) ว่า
มีหลายท่านได้ถามผู้เขียนว่า คำที่เติมท้ายเมืองอุบลว่า ราชธานี นั้นเป็นมาอย่างไร ชั้นต้นผู้เขียนหาคำตอบไม่ได้ บังเอิญไปพบในหนังสือข่อยที่ตาของผู้เขียนได้บันทึกไว้ใน ตำนานเมืองอุบลฯ ว่า เมืองอุบลฯ นี้โปรดเกล้า ให้เป็นเมืองอาสาหลวงเดิม เพราะถ้ามีพระราชสงครามมาติดพันประเทศ เมืองอุบลฯ (พระประทุมฯ) ก็โปรดเกล้าฯ ให้ติดสอยห้อยตามเสด็จไปปราบปรามทุกครั้งฐานะเป็นประเทศราช จึงพระราชทานนามเมืองอุบลฯ ต่อท้ายว่า “เมืองอุบลราชธานี” ดังกล่าว โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นกรุงเทพฯ ทำส่วยผึ้ง 2 เลกต่อเบี้ย น้ำรัก 2 ขวดต่อเบี้ย ป่าน 2 เลกต่อขอด”
ส่วนที่มาของเรื่องนั้น เติม วิภาคย์พจน์กิจ อธิบายต่อไว้ว่า
จุลศักราช 1142 โทศก (พ.ศ. 2323) ประเทศเกิดจลาจล เจ้าฝ่ายหน้า พระประทุม (คำผง) เจ้าพรหม และจ้ำคสิงห์ (บุตรเจ้าฝ่ายหน้า) ก็ได้ไปรับราชการทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปปราบเมืองเขมรคราวนั้นด้วย แต่การยังมิทันสำเร็จทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้นก่อน จึงต้องยกกลับ เจ้าฝ่ายหน้า พระประทุม (คำผง) เจ้าพรหมก็ได้ติดตามกองทัพเข้าไปยังกรุงธนบุรี เพื่อปราบยุคเข็ญในคราวนั้นด้วย
เมื่อได้มีการจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท้าวพระยามุขมนตรีกวีชาติและราษฎรทั้งหลาย ก็พร้อมกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นผ่านพิภพ เสวยสวรรยาธิปัติ์ถวัลยราชย์ดำรงแผ่นดินสืบไป
พระประทุมฯ (คำผง) จึงขอพระราชทานย้ายครอบครัวจากเวียงฆ้อนกลอง (บ้านดู่บ้านแก) ไปตั้งภูมิลําเนาอยู่ที่บ้านห้วยแจะระแม [บ้างเรียก บ้านท่าบ่อ ] ส่วนเจ้าฝ่ายหน้า เจ้าคำสิงห์ที่ผู้บุตรขอพระราชทานไปตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่ขอ เมื่อเสร็จราชการบ้านเมืองแล้วก็กราบถวายบังคมลากลับสู่บ้านเมืองแห่งตน
ส่วนเจ้าฝ่ายหน้าเมื่อมาถึงบ้านสิงห์ท่าก็จัดสร้างบ้านให้ใหญ่โต โดยประสงค์จะตั้งให้เป็นเมืองต่อไป กับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งกับเจดีย์องค์หนึ่ง ชาวเมืองเรียกกันต่อๆ มาว่า “วัดมหาธาตุ” ที่ปรากฏอยู่อําเภอยโสธรมาตราบเท่าทุกวันนี้
จุลศักราช 1153 ปีกุน ตรีศก (พ.ศ. 2334) เกิดกบฏอ้ายเชียงแก้ว อยู่บ้านเขาโอง แขวงเมืองสีทันดร (เมืองสุทันคอน) ฝั่งโขงตะวันออก แสดงตนเป็นผู้วิเศษมีคนนับถือมาก ยกกําลังมาล้อมเมืองนครจําปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เวลานั้นกําลังประชวรหนักแลชรามาก พระชนม์ได้ 80 ปี ตกพระทัย โรคกําเริบถึงพิราลัย ครองเมืองนครจําปาศักดิ์มาได้ 53 ปี มีบุตรธิดา 3 คน คือ เจ้าหน่อเมือง เจ้านางป่อมหัวขาว และเจ้านางท่อนแก้ว
ขณะที่อ้ายเชียงแก้ว มาล้อมเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น เจ้าหน่อเมืองแสนท้าวพญาที่รักษาเมืองไม่ทันรู้ตัวเตรียมสู้ไม่ทัน เจ้าหน่อเมืองจึงพร้อมด้วยญาติวงศ์ไปอาศัยอยู่กับข่าพะนัง ความทราบถึงกรุงเทพมหานคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมา ยกกองทัพไปปราบอ้ายเชียงแก้ว ซึ่งยกกําลังมาต่อสู้ที่แก่งตะนะในลําแม่น้ำมูล (ท้องที่อําเภอบ้านด่านปัจจุบัน) แต่ยังมิทันที่จะยกไปถึง
พระประทุมฯ (คําผง) บ้านห้วยแจะระแม่ เจ้าฝ่ายหน้าผู้พี่นายกองบ้านสิงห์ท่า จึงพากันยกกําลังไปตีอ้ายเชียงแก้วแตก เจ้าฝ่ายหน้าติดตามอ้ายเชียงแก้วจับได้แล้วฆ่าเสีย พอดีกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาไปถึง ก็พากันลงไปยังเมืองนครจําปาศักดิ์ และติดตามเจ้าหน่อเมืองที่หลบหนีภัยไปดังกล่าวแล้วก็ปราบปรามพวกอ้ายเชียงแก้วที่ยังมีกระเซ็นกระสายอยู่นั้นราบคาบ ส่วนมากเป็นพวกข่า มีข่าระแด ข่าจะราย สวาง และข่ากะเซ็ง จับได้มาเป็นอัน
เพื่อเป็นบําเหน็จความดีความชอบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านห้วยแจะระแม่ ขึ้นเป็น เมืองอุบลราชธานี ตามนามพระประทุม ฯ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุ ทรงตั้งเจ้าประเทศราชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นดังนี้
เจ้าอุบลราชธานี
ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านภิภพกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระประทุมเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช เศกให้ ณ วันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1155ปีชวด จัตวาศก
จังหวัดอุบลราชธานี จึงลงท้ายด้วย “ราชธานี” ด้วยถือเป็นประเทศราชในอดีต และใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น