ต่อไปเป็นประเด็นเรื่องที่จะลึกละเอียดไปกว่าเดิม ถ้าพูดถึงเรื่องกรรมอดไม่ได้ที่จะต้องพูดเรื่องสังสารวัฏ เพราะมันจะเกี่ยวข้องกัน และเรื่องนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเลย
และต้องเข้าใจอย่างนี้ด้วยนะว่า ในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกว่าสังสารวัฏ
ซึ่งเป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาจะต้องไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง
เชื่อว่าตายแล้วเกิดเป็นมิจฉาทิฐิ
ถ้าคุณเชื่อว่าตายแล้วเกิดแน่นอน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าใครเชื่อว่าตายแล้วเกิดเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะว่าความคิดนั้นเป็น สัสสตทิฐิ คือเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นนิรันดร์ (eternal) ไม่มีดับสูญ
ความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงเป็นนิรันดร์เรียกว่าสัสสตทิฐิ (eternalism)
เชื่อว่าตายแล้วดับสูญเป็นมิจฉาทิฐิ
แต่ถ้าคุณพูดว่า ตายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างดับสูญ ความเห็นว่าอัตตาและโลกจะดับสิ้นไปหมดก็เป็นมิจฉาทิฐิเหมือนกัน เป็นอุจเฉททิฐิ (annihilationism) เชื่อว่าดับสูญ
การตายเกิดตามหลักพระพุทธศาสนา
ถ้าบอกว่าตายแล้วเกิดแน่นอนก็ผิด ถ้าบอกว่าตายแล้วดับสูญโดยสิ้นเชิงก็ผิด
และพระพุทธศาสนายืนอยู่ที่จุดไหน
อันนี้ขอให้ฟังดีๆ นะ
พระพุทธศาสนาท่านบอกว่า จะเกิดหรือ จะสูญหลังจากตายแล้วมันขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องอิทัปปัจจยตา ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไข มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัย
ตาย เกิด ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
ท่านอธิบายว่า ถ้าคุณยังมีอวิชชา ตัณหาหรือที่เรียกว่ากิเลส ยังมีกิเลสอยู่ คุณตายไปคุณจะต้องเกิด เงื่อนไขที่ว่าเกิดอยู่ที่อวิชชา ตัณหา หรือที่เราเรียกรวมๆ ว่ากิเลส ต้องเข้าใจตรงนี้
ขอแวะตรงนี้หน่อย
กิเลส เงื่อนไขของการตาย เกิด
คําที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า “กิเลส” กิเลสเป็นชื่อรวมเหมือนคำว่าคน เป็นชื่อรวม ที่นั่งอยู่นี่ก็คนทั้งนั้น ถ้าเรียกเป็นชื่อแต่ละอย่าง เช่น ตัณหา อวิชชา โลภ โกรธ นี่เป็นชื่อเฉพาะของไอ้ตัวกิเลส เหมือนสายสุนี สุรีพร ติ๋ม ต๋อย เบิร์ด ก็เป็นชื่อคนเหมือนกัน กิเลสก็เป็นชื่อรวม หมายถึงสิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง
แล้วกิเลสมีอะไรบ้าง โลภก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง อวิชชา ความหลง ความโง่งมงายก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง โทสะความขัดเคืองประทุษร้ายก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องเข้าใจตรงนี้
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าท่านยังมีกิเลส ตายแล้วเกิดแน่ ถ้าหากว่าหมดกิเลสอย่างพระอรหันต์ตายแล้วไม่เกิด อันนี้ไม่ใช่พูดเอาลอยๆ ขอยกพุทธวจนะเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้หลายแห่ง
อย่างในเล่มที่ยี่สิบ ท่านตรัสไว้ว่า
“เหล่าสัตว์มีอวิชชา ตัณหา เป็นเครื่องกางกั้น ผูกมัดใจ ย่อมมีการเกิดใหม่”
“ภิกษุทั้งหลาย สังสารวัฏมีกำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายมิได้ เมื่อเหล่าสัตว์มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด ย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด”
ในเล่มที่สิบเก้า พูดได้ว่า
“เพราะไม่รู้ ไม่เห็น อริยสัจสี่ตามเป็นจริง เราและท่านจึงต้องท่องเที่ยวในชาตินั้นๆ ตลอดกาลนาน เมื่อเห็นอริยสัจสี่ ถอนตัณหาอันเป็นรากเหง้าของทุกข์ได้แล้ว ก็ไม่มีการเกิดใหม่”
พระไตรปิฎกบรรยายถึงพระอรหันต์บรรลุนิพพานแล้ว ท่านจะใช้คำว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไป ภพใหม่ไม่มีแล้ว”
นี้ก็แสดงว่าหมดแล้ว ถ้าตายก็หมดกัน เพราะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พอตายแล้ว ก็หมดกันเลย
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผมว่า อย่าไปพูดอะไรแบบยืนยันไปข้างหนึ่งตรงๆ ไม่ได้ ตายแล้วต้องเกิดก็ผิด ตายแล้วไม่เกิดก็ผิด มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า คุณมีกิเลสหรือเปล่า ตัวนี้เป็นตัวที่จะบอกว่าจะเกิดหรือไม่เกิด
ความหมายของตายกับเกิด
การตีความหมายของคำว่า ตาย คำว่า เกิด มันก็ขัดแย้งกันเพราะมีคนตีความหมายคำว่า ตาย คำว่า เกิด ผมประมวลมาได้ 3 มติ ลองฟังดูโดยตลอด
มติที่หนึ่ง เห็นว่าคนเราตายแล้วร่างกายแตกดับ แตกดับหมดเลยเหลือแต่วิญญาณ ที่ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ วิญญาณนี้เป็นอมตะไม่มีการตาย มีความสมบูรณ์อยู่ในตัว เมื่อร่างกายดับสลายไป ก็ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ ในภพใหม่ ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น จนกว่าจะสิ้นกรรม นี่เป็นคำอธิบายของมติหนึ่ง มตินี้เป็นของใครค่อยว่ากันอีกที
มติที่สอง มีความเห็นว่า ความตายเกิดขึ้นเมื่อจิตดวงสุดท้ายดับซึ่งเรียกว่าจุติจิต
จุติแปลว่าตาย ภาษาไทยนี้เพี้ยนไปหมดแล้ว อ่านหนังสือพิมพ์เขาบอกว่า ดาวดวงใหม่จุติแล้ว เอ…ทำไมมันตายเร็วนัก จุติแปลว่าตาย บางคนชื่อจุติ แปลว่านายตายไม่มีชีวิตอยู่ ภาษาไทยเรามาใช้กันผิด
จุติจิต คือจิตดับ เมื่อจิตดวงสุดท้ายดับ ก็เกิดปฏิสนธิจิต จิตดวงใหม่เกิดขึ้นรับช่วงทันที เพราะฉะนั้น มตินี้ไม่มีโอกาสให้วิญญาณอมตะล่องลอยไปไหน ไม่มีอะไร ไม่มีช่องว่างให้วิญญาณล่องลอยจากชาตินี้ไปเกิดในชาติหน้า เพราะว่ากายตาย การเกิดเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เกิดปุ๊บทันที ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะไม่มีช่องว่างให้วิญญาณนี้มันออกไปจากร่างไปหาที่เกิด
มติที่สองนี้หมายความว่า พอตายปุ๊บก็เกิดปั๊บ จิตดวงนี้ดับ จิตดวงใหม่ก็เกิดรับช่วงทันที จะเกิดเป็นอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การตาย เกิด มีตลอดเวลา
มติที่สาม บอกว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องของปัจจุบันชาติเท่านั้น เป็นเรื่องปัจจุบันขณะเท่านั้นเอง
มตินี้ไม่สนใจเรื่องชาติหน้าชาติก่อน และก็มีคำอธิบายไว้ว่า ในกรณีที่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ของกูเกิดขึ้น ก็เป็นชาติหนึ่ง ถ้าตัวกูของกูดับก็แสดงว่าตาย เพราะฉะนั้น ชาตินี้ชาติหน้า อยู่ในชีวิตเดี๋ยวนี้ ขณะนี้
อันนี้ก็เป็นการตีความเรื่องการเกิดของมติที่สาม
การตาย เกิด ตามหลักพระพุทธศาสนา
รูปกาลจักร ตรงกลางวงของกาลจักรเป็นรูปของหมูไล่งับหางงู งูไล่งับหางไก่ ไก่ไล่งับหางหมูวนกันไปเป็นวงกลม
ทีนี้เราลองมาวินิจฉัยดูว่าทั้งสามมตินี้อันไหนที่พระพุทธศาสนาได้ยืนยันไว้ มติที่หนึ่ง ที่บอกว่า เมื่อตายแล้วร่างกายแตกดับแล้วไปหาที่เกิดใหม่ อันนี้เป็นมติของศาสนาพราหมณ์ เป็นแนวความคิดของศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าวิญญาณนี้ไม่มีดับ วิญญาณนี้เป็นอมตะ ร่างกายนี้แตกดับได้ พอร่างกายแตกดับ วิญญาณก็จะล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่
แนวความคิดความเชื่อพวกนี้ไม่เฉพาะพวกพราหมณ์ ที่อินเดียเขาเชื่อ คนไทยกว่า 80% ที่มีความคิดความเชื่ออย่างนี้
แม้แต่ในวงการพระที่สอนพุทธศาสนาเอง
คุณไม่เชื่อไปอ่านหนังสืองานศพก็ได้ ในประวัติของคนตายจะเขียนไว้เลยในตอนสุดท้ายว่า ขอให้ดวงวิญญาณของนายเสฐียรพงษ์ จงไปสู่สุคติเถิด ร่างกายนายเสฐียรพงษ์ก็โดนเผาไปแล้ว แต่ขอให้ดวงวิญญาณของนายเสฐียรพงษ์ไปสู่สุคติเถิด
นี่แสดงว่าวิญญาณมันยังอยู่ ขอให้ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่ดีๆ
ความคิดอย่างนี้มันไม่ใช่ความคิดของพุทธศาสนา จะออกจากปากพระหรือไม่พระก็ตาม อย่างนี้ถือว่าเป็นแนวคิดของศาสนาอื่น (ศาสนาพราหมณ์) ที่ถือว่าวิญญาณนั้นไม่ตาย วิญญาณนั้นสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
ส่วนมติที่สอง เป็นมติที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ถือว่าเป็นพุทธวจนะ ที่บอกว่าคนเราตาย จิตดับแล้วก็เกิดทันที สมมุติว่าร่างกายหมด function หมดหน้าที่ จิตดับไปด้วย จิตดับแล้ว มันก็ต้องเกิดทันที
ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นแล้วแต่กรรมที่เราสร้างไว้จะเป็นปัจจัยเงื่อนไขทำให้มันเป็นไป มันจะสวมรับกันทันที
กฎของกรรมนี้มันจัดแจงของมันเองเสร็จ ซึ่งเราสามารถจะรู้ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่ามันเป็นพุทธวิสัย พระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะรู้ได้
สังสารวัฏกับการตรัสรู้
เรื่องตาย เรื่องเกิด เรื่องของสังสารวัฏนั้น จริงๆ แล้วเกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นหลักคำสอนที่มีในพระพุทธศาสนา ถ้าเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ลองย้อนไปนึกถึงก็ได้
ตอนแรกท่านได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ในปฐมยาม คือรู้ว่าชาติก่อนท่านเกิดเป็นอะไร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน โคตรอะไร ตระกูลอะไร มีอาชีพอะไร มีอายุขัยเท่าไหร่ ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นอะไร รู้เรื่องของตัวเองในชาติก่อน เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสติญาณ
พอมาถึงยามที่สองท่านก็ได้ความรู้อีกชนิดหนึ่งคือ สามารถหยั่งรู้การตาย การเกิด ของสัตว์ทั้งหลายอื่นๆ ด้วยแรงกรรมที่แต่ละคนกระทำมา นายคนนั้นทำกรรมอะไรมาจึงเกิดมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้เรียกว่าทิพพจักขุญาณ มีตาทิพย์สามารถที่จะรู้ได้
สุดท้ายท่านก็ได้ความรู้พิเศษคือ ตรัสรู้ความจริงอันสูงสุด ซึ่งเรียกว่า อริยสัจสี่ประการ ทำให้จิตของพระองค์ท่านบริสุทธิ์จากความโลภ ความโกรธ ความหลงโดยสิ้นเชิง (อาสวักขยญาณ) กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ความรู้ธรรมดา รู้อย่างนี้ขึ้นปั๊บทำให้หมดกิเลสทันที กลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา
เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าเรื่องของสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิด มันเกี่ยวพันกันกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า เราเชื่อพระพุทธเจ้าไหม
สิ่งที่ควรเชื่อ 4 ประการ
ในพระพุทธศาสนามีสิ่งที่ควรเชื่ออยู่ 4 อย่างคือ
1. เชื่อเรื่องกรรม เชื่อว่ากรรมมีจริง
2. เชื่อเรื่องผลของกรรม เชื่อว่าทำกรรมลงไปแล้วได้รับผลจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง
3. เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน หมายความว่า ใครทำ ใครได้ ไม่ใช่ว่านาย ก. มาทำแทนนาย ข. อยากเป็นอะไรก็ต้องทำเอาเอง เรียกว่ามีกรรมเป็นของตน เช่น อยากจะเป็นด๊อกเตอร์ คุณต้องเรียนเอง คุณจะไปส่งให้ลูกชายเรียนแทนไม่ได้ ลูกชายก็ได้เป็นเอง อยากเป็นพระอรหันต์คุณก็ต้องนั่งสมาธิวิปัสสนาเอง ไปสั่งคนอื่นทำให้ไม่ได้ นี่เรียกว่าเชื่อว่ากรรมเป็นของตัวเราเอง ใครทำ ใครได้
4. ประการสุดท้าย เชื่อในเรื่องปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริง และสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น นำมาซึ่งความสุข ความเจริญแก่ชีวิต และทำให้พ้นความทุกข์จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ มติชนสุดสัปดาห์ ข้อเขียนจากคุณ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น