คลังบทความของบล็อก

14 พฤศจิกายน 2561

ภาษาไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม





จดหมายรายงานการถูกบุกเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
มีลายมือหรือลายเซ็นของจอมพล ป. ด้วย


ในปี พ.ศ. 2485 นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ได้ยกร่างและประกาศใช้อักขรวิธีไทยแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งในปลายปี พ.ศ. 2487 นโยบายต่าง ๆ ในสมัยรัฐบาลชุดก่อนได้ถูกยกเลิก ซึ่งรวมถึงอักขรวิธีไทยดังกล่าวด้วย รวมระยะเวลาการบังคับใช้อักขรวิธีของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยประมาณ 2 ปี 3 เดือน



จอมพล ป. พิบูลสงคราม


ประวัติ
เมื่อประเทศไทยถูกดึงเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามายังประเทศไทย และขณะเดียวกันนั้นก็ได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า ภาษาไทยนี้ยากมาก ทั้งการอ่าน เขียน พูด จึงขอให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น เหมือนคนจีนในเกาะไต้หวัน ทั้งๆที่ภาษาญี่ปุ่นมีความยุ่งยากทั้งในส่วนไวยกรณ์ การเขียน (มีตัวอักษรถึงสามประเภท) และการออกเสียง (ซึ่งตัวจีนตัวหนึ่งออกเสียงได้หลายแบบ) มากกว่าภาษาไทยหลายเท่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเรียกประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปรึกษาหาเรือเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข เมื่อตกลงกันได้แล้ว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 29 คน ซึ่งอาจารย์เปลื้อง ณ นคร และอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

คณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยมีแนวทางส่งเสริมภาษาไทย 4 แนวทางคือ

1. ส่งเสริมการศึกษาหลักและระเบียบภาษาไทย อย่างที่เรียกว่าภาษาศาสตร์
2. ส่งเสริมการแต่ง ทั้งในวิธีร้อยแก้ว และร้อยกรอง ซึ่งรวมเรียกว่าวรรณคดี
3. ส่งเสริมให้มีการวิจารณ์วรรณคดี
4. จัดตั้งสมาคมวรรณคดี เพื่อจะได้เป็นแหล่งที่เพาะความรู้ภาษาไทย และโฆษณาภาษาไทย

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวช่วยกันยกร่างเรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทย เสนอจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท่านเห็นชอบด้วย จึงได้ลงนามในประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงอักสรไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยให้เหตุผลว่า:

"ด้วยรัถบาลพิจารณาเห็นว่า ภาสาไทยย่อมเป็นเครื่องหมายสแดงวัธนธรรมของชาติไทย สมควนได้รับการบำรุงส่งเสิมไห้แพร่หลายออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น ไห้สมกับความจเรินก้าวหน้าของชาติ ซึ่งกำลังขยายตัวออกไปไนปัจจุบันคนะหนึ่ง ดังมีรายชื่อแจ้งอยู่ไนประกาสตั้งกรรมการส่งเสิมวัธนธรรมภาสาไทยนั้นแล้ว เพื่อร่วมกันพิจารนาหาทางปรับปรุงและส่งเสิมภาสาไทยไห้มีความจเรินก้าวหน้ายิ่งขึ้น อันที่จริงภาสาไทยก็เป็นภาสาที่มีสำเนียงไพเราะสละสลวย และมีความกว้างขวางของภาสาสมกับเป็นสมบัติของชาติไทยที่มีวัธนธรรมสูงอยู่แล้ว ยังขาดอยู่ก็แต่การส่งเสิมไห้แพร่หลาย สมควนแก่ความสำคันของภาสาเท่านั้นกรรมการส่งเสิมวัธนธรรมภาสาไทยได้มีการประชุมกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๓ พรึสภาคม ๒๔๘๕ มีความเห็นไนชั้นต้นว่า สมควนจะปรับปรุงตัวอักสรไทยไห้กระทัดรัดเพื่อได้เล่าเรียนกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้พิจารนาเห็นว่า ตัวสระและพยัญชนะของภาสาไทยมีอยู่หลายตัวที่ซ้ำเสียงกันโดยไม่จำเป็น ถ้าได้งดไช้เสียบ้างก็จะเป็นความสดวก ไนการสึกสาเล่าเรียกภาสาไทยไห้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น"



นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศให้ใช้เลขสากล (เลขอาหรับ) แทนที่เลขไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อทั่วไป และเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว


ภายหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ในวันถัดมานั้น นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ออกประกาศยกเลิกการใช้อักขรวิธีดังกล่าว และการใช้เลขสากล ส่งผลให้กลับไปใช้อักขรวิธีไทยแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 ท่านก็มิได้นำอักขรวิธีดังกล่าวกลับมาใช้อีก



อนึ่งสาเหตุหลักของการที่อักขรวิธีไทยของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยนั้นไม่ได้รับความนิยมคือ การขัดต่อความรู้สึกของประชาชน และความเคยชินกับอักษรไทยแบบเดิม    





เกล็ดประวัติศาสตร์    

สาเหตุที่ภาษาไทย ยุคนี้เขียนแปลกๆ
สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แม่ทัพญี่ปุ่นในเมืองไทย ตำหนิว่าภาษาไทยเรียนยาก จะบังคับให้เราเรียนภาษาญี่ปุ่น เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ทางไทยจึงคิดหาทางออก โดยการตัดทอนพยัญชนะไทย ตัวที่ไม่จำเป็นออก ทำให้เขียนอ่านง่ายขึ้น เพื่อที่จะได้สื่อสารกับกองทัพญี่ปุ่น ด้วยภาษาไทย

พยัญชนะไทยถูกตัดออกไป 13 ตัว คงเหลือ 31 ตัว และสระบางตัว เช่น สระ ใ ตัว ฤ ภาษาเขียนจึงดูหน้าตาตลกมาก เช่น ซาบ(ทราบ) คุน เทอ ไจ ธัมดา พิเสส รัถบาล พรึสจิกายน ฯลฯ ยุคนั้นจึงถูกเรียกกันว่า "ยุคอักขระวิบัติ"   วิปริตจนถึงกับ ป. อินทรปาลิต ผู้แต่งนวนิยายขายดี ชุดสามเกลอ (พล นิกร กิมหงวน) อดรนทนไม่ได้ ต้องขอหยุดเขียนหนังสือชั่วคราว หันไปหาอาชีพพากย์หนังแทน



ที่มา วิกิพีเดีย

                                                         ------------------------------------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น