คลังบทความของบล็อก

27 ธันวาคม 2562

วิกฤติป่าไม้ไทย ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ





ป่าไม้ ทรัพยากรที่สำคัญของโลก ที่ไม่ว่าทั้งมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกต่างก็ต้องพึ่งพามัน เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ และเป็นตัวสร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม
.
ซึ่งเมื่อป่าไม้ถูกทำลายคงจะส่งผลไม่น้อยกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งคน สัตว์ สภาพอากาศ สภาพดิน สภาพน้ำ ป่าไม้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากต่อสภาวะการดำรงชีวิตของทั้งสัตว์และมนุษย์




พื้นที่ผืนป่าในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือเพียง 102.17 ล้านไร่ โดยภาคเหนือเหลือป่ามากที่สุด ขณะที่ตัวเลขงบผู้พิทักษ์ป่า มีแค่ 61 บาทต่อ 625 ไร่ ด้าน สคช. ผุดยุทธศาสตร์ชาติชุบคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หวังไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียนใน 20 ปี


จับชีพจรป่าไม้ไทย
จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยปี 2559 โดยกรมป่าไม้ พบว่าปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเท่ากับ 102.17 ล้านไร่ คิดเป็น 163,479.69 ตารางกิโลเมตร ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 0.02 หรือประมาณ 65,500 ไร่ และจากสถิติพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยจากปี 2557-2559 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 0.02 ทุกปี

เมื่อดูปริมาณป่าแยกเป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่ามากที่สุดร้อยละ 64.37 ของพื้นที่ในภูมิภาค รองลงมาคือภาคตะวันตก ร้อยละ 59.03, ภาคใต้ ร้อยละ 24, ภาค   ตะวันออก ร้อยละ 21.84, ภาคกลาง ร้อยละ 21.09 และภาคที่มีพื้นที่ป่าเหลือน้อยที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.93 โดยภูมิภาคที่มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้รุนแรงที่สุดคือภาคตะวันออก ร้อยละ 36.38 ของพื้นที่ป่าที่เคยมีจากปี 2504 รองลงมาคือ ภาคใต้ มีพื้นที่ป่าหายไปถึงร้อยละ 34.82 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.68, ภาคตะวันตก ร้อยละ 24.45 ภาคกลาง ร้อยละ 23.01 และภาคเหนือ ร้อยละ 9.1         


ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 443 แห่ง ครอบคลุม 66.3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20.68 ของพื้นที่ทั้งประเทศ โดยเป็นอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ เฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่าไม้ 2,083 ไร่ โดยในส่วนงบประมาณการรักษาป่าอนุรักษ์ขนาดเล็ก (ไม่เกิน 62,500 ไร่) เจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ 156 ไร่ ได้รับงบประมาณเพียง 104 บาทต่อไร่ และป่าอนุรักษ์ขนาดกลางและใหญ่ (62,500 ไร่-2.9 ล้านไร่) เจ้าหน้าที่ 1 คน ต้องดูแล 625 ไร่ ได้รับงบประมาณแค่ 61 บาท



เปิดผลตรวจสุขภาพป่าไม้ไทย

ตัวเลขที่บ่งบอกถึงจำนวนพื้นที่ป่าไม้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ได้ โดยปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีอัตราค่อนข้างคงที่ หรือลดลงเพียงเล็กน้อย จากข้อมูลสุขภาพป่า โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่าป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด (3 คะแนน) มี 4 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก (ที่มีการเข้าไปล่าเสือดำ), กลุ่มป่าภูเขียวน้ำหนาว, กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ส่วนกลุ่มป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก (2 คะแนน) มี 13 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าฮาลาบาลา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, ภูเมี่ยง-ภูทอง, ลุ่มน้ำปาย-สาละวิน, คลองแสง-เขาสก, ศรีลานนา-ขุนตาล, แม่ปิง-อมก๋อย, พนมดงรัก-ผาแต้ม, ภูพาน, เขาหลวง, เขาบรรทัด, ดอยภูคา-แม่ยม และชุมพร



การใช้ดัชนีแบบการประเมินสุขภาพป่าทำให้มองเห็นภาพรวม สามารถกำหนดรูปแบบในการจัดการไปในทางเดียวกัน และสามารถกำหนดมาตรฐานการจัดการขั้นพื้นฐานให้เป็นระบบเดียวกันเป็นวิธีการศึกษาหรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ดังนั้นหากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ตามเป้าหมายที่วาดหวังไว้จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่



คุณศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เผยว่า จากคดีเรื่องเสือดำ ทำให้ต้องกลับมามองว่าสุขภาพของป่าบ้านเราเป็นอย่างไร มีป่าใหญ่ให้สัตว์ป่าดำรงชีวิตอยู่พอไหม ดังนั้นพื้นที่ป่าต้องไม่แตกออกเป็นหย่อมๆ ต้องมีอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชื่อมโยงกัน ปีที่แล้วมูลนิธิสืบฯ ได้ร่วมกับนักวิชาการ ทำการศึกษาเพื่อประเมินกลุ่มป่าในประเทศไทย พบว่าพื้นที่ที่ใหญ่มากพอ มีกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าเขาใหญ่ และแก่งกระจาย ส่วนสัตว์ป่าพบเยอะที่ภูเขียว เขาใหญ่ และป่าตะวันออก

อีกทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขยายโมเดลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อจัดการพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ฯ คือ

1. เจ้าหน้าที่เดินสม่ำเสมอ

2. เดินแล้วเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น เจอเสือดำไหม เจอสัตว์ป่าอะไรบ้าง วันนี้กรมฯ พยายามจะขยายผลไปสักครึ่งหนึ่งของพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ต้องให้เกิดการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั่วประเทศจะเป็นการแก้ปัญหาสัตว์ป่าได้ถูกจุด โดยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องทำแบบนี้ทั่วทั้งป่าตะวันตกและทั่วประเทศ นี่คือเรื่องใหญ่ ก็ถือเอาโอกาสตรงนี้ในการลาดตระเวน เพิ่มประสิทธิภาพในหน่วยพิทักษ์ป่า การเพิ่มสวัสดิภาพและสวัสดิการ การเพิ่มองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้หัวหน้าเขตฯ เป็นแบบวิเชียรโมเดล


ดันไทยมีสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในอาเซียน

ขณะเดียวกันคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอาเซียน ภายในปี 2579 ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งจะดำเนินการบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต  ภายใต้กรอบแนวคิด

1.การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศเพื่อความยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างสมดุล  

2. ฟื้นฟูและพัฒนาฐานรากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศบนเส้นทางสีเขียว และ

3. บริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ไม่ให้เกินขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ



โดยมี 6 ยุทธศาสตร์ 17 เป้าหมาย ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตบนความสมดุลของฐานทรัพยากรธรรมชาติด้วยเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เป้าหมายสู่ระดับคุณภาพชีวิตสูง กระทบสิ่งแวดล้อมต่ำ เน้นผลิตและบริโภคอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยเป้าหมาย

1.) เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ อย่างเช่น สินค้าออร์แกนิก ไบโอ สารอินทรีย์ เป็นต้น จากปัจจุบันร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นร้อยละ 10 ในอีก 20 ปี

2.) อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยลดอัตราการสูญเสียชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

3.) ฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศ

4.) รักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียว ได้แก่ ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่สวนป่าใช้ประโยชน์ ร้อยละ 15 และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจร้อยละ 5 ให้ปกคลุมพื้นที่ ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ และ

5.) ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น สินค้าฉลากเขียว เป็นต้น จากเดิมร้อยละ 10 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตและบริโภคทั้งประเทศ

สร้างคุณภาพชีวิตดีได้ สิ่งแวดล้อมดีด้วย

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านต่อมา ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล มุ่งเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเล ปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพิ่มสัดส่วนพาณิชยนาวีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายสำคัญ เช่น เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเล จากเดิม 3 ล้านล้านบาท เป็น 6.16 ล้านล้านบาท จากการท่องเที่ยว 6 ล้านล้าน และการประมง 0.16 ล้านล้านบาท เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงการจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และสร้างความสามารถของประชาชนในการรับมือผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ด้วยเป้าหมาย เช่น   

1.) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 20 

2.) ลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงร้อยละ 40 เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนผังภูมินิเวศ ลดการปลดปล่อยมลพิษและผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ สงวนรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อัตลักษณ์และวิถีชีวิตพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นพัฒนาระบบจัดการน้ำทั้งระบบ พัฒนาความมั่นคงทางพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พัฒนาความมั่นคงการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัย และ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ยกระดับกระบวนทัศน์และมองอนาคตประเทศ พัฒนาเครื่องมือและกลไกเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตที่มีคุณภาพในอนาคต



         สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจัดทำฯ ได้ร่างแผนแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ซึ่งแม้ภาพอาจดูจะว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในวิกฤติป่าไม้และสิ่งแวดล้อม แต่หากพลิกเอามาเป็นโอกาส จากประเด็นที่คนในสังคมกำลังสนใจอยู่ ให้ร่วมกันลุกขึ้นมาช่วยกันรักษา รวมไปถึงหาทางพัฒนาให้ทุกชีวิตอยู่อย่างมั่นคง มีคุณภาพและยั่งยืนขึ้น

         คุณรตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“เรื่อง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่กำลังดำเนินการอยู่ ขออย่าได้มีการอนุญาตให้เช่าพื้นที่ป่า หากมีการอนุญาตแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็จะเกิดการสูญเสียป่าไม้ไปเยอะเลย ดูตัวอย่างป่าสงวนที่มีการให้อนุญาตเข้าไปทำประโยชน์ได้ เพราะว่าคือทรัพยากรของเรา และขออย่าให้มีกรณีเข้าเที่ยวศึกษาธรรมชาติ หรือทำอย่างในแอฟริกา  ที่มีบ้าน มีเต้นท์ มีเครื่องปรับอากาศให้นักท่องเที่ยวพักในป่า อย่าให้มีเป็นอันขาด”




รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา เพราะคณะกรรมการพยายามมองไปอีก 20 ปีข้างหน้า โดยใช้คำว่าเติบโต สมดุล และยั่งยืน ไม่ได้บอกว่ายั่งยืนและอนุรักษ์อย่างเดียวแล้วจะเป็นคำตอบสำหรับอนาคต เพราะในอนาคตการเจริญเติบโต เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่ายุทธศาสตร์ที่เน้นการสร้างความสมดุล ระหว่างการพัฒนาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคต ถ้าเราอยากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี คิดว่าความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด”



เครดิตจาก เนื้อหาสาระ  :  http://www.bltbangkok.com







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น