คลังบทความของบล็อก

13 ธันวาคม 2561

สมเด็จพระสังฆราชฯพระองค์ที่ 19




สมเด็จพระญาณสังวรฯ  พระสังฆราชพระองค์ที่ 19 

ในมงคลสมัยนี้ จักได้พรรณนาพระคุณอันประเสริฐแห่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธา และเพื่อน้อมนำรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐนั้นมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข ความเจริญในธรรม ของเพื่อนมนุษย์ทั้งผอง



พระนามของสมเด็จพระสังฆราชในยุครัตนโกสินทร์นี้ จะใช้คำนำหน้าสี่ลักษณะคือ



ลักษณะแรก ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระสังฆราช ดังเช่นพระนามสมเด็จพระสังฆราช (สี) วัดระฆังโฆสิตาราม ในยุคสมัยรัชกาลที่ 1

       

ลักษณะที่สอง ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ดังเช่นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวงศ์ องค์พระอุปัชฌาย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

       

ลักษณะที่สาม ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ดังเช่นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร

       

ลักษณะที่สี่ ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ดังเช่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน



การใช้คำนำหน้าพระนามสมเด็จพระสังฆราชนั้น น่าจะมีการคำนึงถึงภูมิธรรมและพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์ จึงเป็นที่มาของการพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์



      

ในยุครัตนโกสินทร์นี้ แม้ว่ามีสมเด็จพระสังฆราชมาแล้วหลายพระองค์ แต่ที่ได้รับพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรว่า “ญาณสังวร” นั้นมีอยู่เพียง 2 พระองค์เท่านั้น


สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน)


พระองค์แรกคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมอันประเสริฐยิ่งในพระพุทธศาสนา ทรงอภิญญา และอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่เลื่องชื่อลือชาแห่งยุครัตนโกสินทร์


       



พระองค์ที่สองคือ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19  ได้รับพระราชทานนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

       

และถ้าจะนับเนื่องในเรื่องทรงอภิญญา ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็กล่าวได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์นี้มีพระสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะเพียง 3 รูปเท่านั้น

       

นั่นคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) องค์ปัจจุบัน

       

พระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้นเป็นที่รู้ประจักษ์โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก และในโอกาสนี้ย่อมสมควรกล่าวถึงพระคุณประการนี้ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันเป็นสำคัญ

       

ที่มาของคำว่า “ญาณสังวร” นั้นมาจากความสำรวมหรือความสังวรใน 3 ระดับ ตามภูมิธรรมในพระพุทธศาสนา คือ ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร



    

ศีลสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในศีล โดยศีลที่ว่านี้หมายถึงศีล 2 ชนิด คือ ศีลซึ่งมีลักษณะเป็นพระวินัย ตามพระปาติโมกข์ชนิดหนึ่ง และศีลจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นศีลที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเพื่อการศึกษาและปฏิบัติในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยแห่งพระบรมศาสดาโดยตรง ได้แก่ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล เมื่อศีลสมบูรณ์บริสุทธิ์แล้ว ย่อมเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้นหรือนิพพานในที่สุด

       

อินทรีย์สังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในอินทรีย์ทั้งปวงโดยเฉพาะ ในที่นี้หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีความเป็นปกติ ไม่วอกแวกหวั่นไหว เมื่อกระทบกับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ต่างๆ ถึงซึ่งความเป็นอุเบกขา

       

ญาณสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในญาณ ซึ่งครอบคลุมถึงรูปฌาน และอรูปฌาน ขึ้นไปจนถึงญาณทั้งสาม อันเป็นสุดยอดสามวิชชาในพระพุทธศาสนา คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตถญาณ และอาสวัคขยญาณ

       

พระนามญาณสังวรของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งสองพระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีที่มาจากคำว่าญาณสังวรและความหมายของญาณสังวรอันเป็นภูมิธรรมขั้นสูงและสูงที่สุดในพระพุทธศาสนานั่นเอง



     

ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร เมื่อบริบูรณ์แล้วพระตถาคตเจ้าทรงตรัสรับรองว่าสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้นานาประการ

       

อันสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชนั้น ทรงอิทธิปาฏิหาริย์หลายประการ ทั้งอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ และอิทธิปาฏิหาริย์



สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 ทรงพระคุณอันประเสริฐในด้านอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โปรดให้ทรงนิพนธ์คำสอนหลากหลายเรื่อง เพื่อเป็นคู่มือการศึกษาและปฏิบัติของชาวพุทธ อันมีประจักษ์พยานหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน

       



อิทธิปาฏิหาริย์คือการกระทำความมหัศจรรย์เหนือกว่าความสามารถของมนุษย์ธรรมดา ซึ่งในประการนี้คนจำนวนมากอาจไม่รู้หรือไม่ทราบ กระทั่งเข้าใจว่าทรงเป็นแค่พระสงฆ์ธรรมดา ที่ปฏิบัติธรรมวินัยไปตามปกติ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

       

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ตามภูมิธรรมอันประเสริฐสูงที่พระองค์ทรงบรรลุแล้ว และเคยมีผู้เห็นประจักษ์หลายครั้ง ดังที่จะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้


       





เรื่องที่หนึ่ง เมื่อครั้งที่ยังมีสงครามระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้นิมนต์พระมหาเถระทางภาคอีสานหลายรูป ซึ่งเป็นพระป่า ไม่อยู่เป็นที่เป็นทาง แต่มีภูมิธรรมขั้นสูง ด้วยการคมนาคมและการสื่อสารในสมัยนั้นตลอดจนอุปสรรคในด้านความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อนิมนต์พระมหาเถระเหล่านั้นได้

       

พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ นายทหารราชองครักษ์ได้รับมอบหมายให้ไปทูลสมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งขณะนั้นยังคงมีสมณศักดิ์ที่พระศาสนโสภณ ขอให้ช่วยนิมนต์แทน หลังจากรออยู่ครู่หนึ่งก็ได้รับคำตอบว่าได้นิมนต์เรียบร้อยแล้ว ให้ทางสำนักพระราชวังจัดรถไปรับ ณ ที่นัดหมายตามวันเวลาที่กำหนด

       

ปรากฏว่าการติดต่อนิมนต์ครั้งนั้นไม่ได้ใช้เครื่องมือสื่อสารใดๆ เลย แต่เป็นการติดต่อนิมนต์ด้วยโทรจิต ซึ่งเป็นการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา


       


อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ คือปาฏิหาริย์ในการเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ ให้เข้าใจ และสามารถน้อมนำพระธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมได้


       

 ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณ : ราชมัล  จาก pantip.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น