คลังบทความของบล็อก

13 ธันวาคม 2561

คำรณ สัมบุญณานนท์ นักร้องผู้ท้าทายเผด็จการ

คำรณ สัมบุญณานนท์  บุกเบิกเพลงกัญชา นักร้องผู้หาญกล้า ท้าทายเผด็จการ

“กัญชา” เป็นที่พูดถึงกันอย่างอึกทึกครึกโครมในประเทศไทย เมื่อกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2560 เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 4 หรือประเภท 5 มีผลบังคับใช้ ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถอนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืชกัญชาเพื่อสกัดเป็นยารักษาโรคในพื้นที่ที่กำหนดได้



เป็นที่มาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกโรงรีบเร่งดำเนินการ แว่วว่าเบื้องต้นจะนำร่องปลูก 5,000 ไร่ ที่ จ.สกลนคร

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผนวกกับกระแสสังคมที่มีทั้งการตอบรับและโต้กลับ จึงไม่แปลกที่กัญชาจะถูกพูดถึงไม่เว้นแต่ละวัน วันละหลายๆ เวลา



ผู้เขียนไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบทความนี้ ในการอ้างถึงสรรพคุณของกัญชา และยังไม่ต้องการกล่าวหาว่าร้าย ให้โทษแก่พืชชนิดนี้



เพียงแต่ว่า เมื่อกัญชาได้รับการพูดถึงทุกช่องทางการสื่อสารของโลกสมัยใหม่ มันจึงอดคิดถึงนักร้องคนหนึ่งไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนแรกในเมืองไทย ที่ร้องเพลงเกี่ยวกับกัญชาก็ว่าได้





ความจริงแล้วไม่รู้จะให้ “คำรณ” เป็นนักร้องแนวใด เนื่องจากปี 2481 ในตอนที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการเป็นที่รู้จัก เรื่อยมาจนถึงตอนที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ อีกครั้งหลังบังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออก ซึ่งเป็นช่วงที่ “คำรณ” มีชื่อเสียงโด่งดัง ยังไม่มีการแบ่งแยกแนวดนตรีออกอย่างชัดเจนเหมือนทุกวันนี้




คำรณ สัมบุญณานนท์


กระนั้น คำรณก็ได้รับการขนานนามให้เป็น “บิดาแห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย” หลังได้เล่นละครวิทยุและร้องเพลงประกอบในเรื่อง “เจ้าสาวชาวไร่” ซึ่งต่อมาเพลงนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรก



แต่เอาเข้าจริง เนื้อหาในเพลงของเขา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นการเสียดสีสังคม พูดถึงความลำบากยากเย็นของคนจน วิพากษ์นักการเมืองคอร์รัปชั่น



ซึ่งนับเป็นเนื้อหาที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในยุคนั้น



ในวัยหนุ่ม คำรณใช้ชีวิตอย่างผาดโผน แต่งและร้องเพลงเกี่ยวกับกัญชาอย่างละเมียดละไม ไพเราะ เริ่มจากเพลง “กระท่อมกัญชา” ล้อมาจากเพลง “กระท่อมไพรวัลย์” ของราชาแอ๊กคอร์เดี้ยน “ชาญชัย บัวบังศร”






เพลง กระท่อมกัญชา


เพื่อให้เห็นอารมณ์ของคนสูบกัญชา คำรณจึงเกริ่นด้วยสำเนียงเหน่อแบบบ้านนอก ก่อนขึ้นเพลงว่า

“สมัยนี้เงินทองมันช่างหายาก อัตคัดเสียจริงๆ ไอ้คนที่รวยก็รวยกันจนเหลือล้น ไอ้คนที่จนก็จนกันเหลือหลาย แต่อย่างผม บอกตรงๆ นาย ไม่เคยเดือดร้อน ขออย่างเดียว ขอให้ผมมีกัญชาดูด ผมเป็นพอใจ เขาว่านะ บ้องที่หนึ่งเห็นนงนุช บ้องที่สองพุทธวาจา แหมะ แต่บ้องที่สามนี่ไม่ไหวนาย เห็นแมวเป็นหมานี่สิ นี่เขาจ้างผมมาร้องส่ง แต่ก่อนที่ผมจะร้องส่ง ขอให้ผมได้ล่อสักบ้องหนึ่งเหอะ เอาก่อนแหละผม (ตามด้วยเสียงน้ำ) ช่างชื่นใจเสียเหลือเกินแม่คุณ เห็นสวรรค์ไรๆ แหนะ”



“กระท่องกัญชา” เป็นเพลงที่สามารถเอาเรื่องของสิ่งเสพติดมาสาธยายให้คนฟังคล้อยตามราวกับอยู่ในภาพฝัน แม้จะเป็นการพูดถึงสิ่งเสพติด ทว่า กลับไม่รู้สึกถึงความหยาบกระด้าง เพราะเนื้อหาและท่วงทำนองที่สื่อออกไปนั้นมีความนุ่มนวล โดยมุ่งให้ผู้ฟังหลุดลอยไปกับจินตนาการอันสวยงาม เป็นจินตนาการที่ไม่มีจริงบนโลกใบนี้



ถัดมาคือเพลง “คนบ้ากัญชา” ในแง่หนึ่งของเพลงนี้เป็นการกล่าวถึงโทษของกัญชา ที่ทำให้ชายหนุ่มไม่เหลืออะไรในชีวิต โดยเฉพาะเมียของเขาซึ่งตีตัวออกห่างเพราะมีชู้







เพลง  คนบ้ากัญชา


คำรณเกริ่นก่อนขึ้นเพลงนี้ว่า “ชื่นใจ ชื่นใจอะไรอย่างนี้ ปลอดโปร่งโล่งสมอง สบายตัว (แล้วหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง) อะไรๆ ในโลกนี้ มันก็ไม่ซื่อสัตย์เหมือนอย่างเจ้า สูบทีไร เป็นเมาทุกที”



อีกเพลงที่ไพเราะไม่แพ้กัน คือเพลง “บ้านยายหอม” น่าจะเขียนโดย “ศักดิ์ เกิดศิริ” ซึ่งล้อมาจากเพลง “ท่าฉลอม” ของ “ชรินทร์ นันทนาคร”






เพลง  บ้านยายหอม


“บ้านยายหอม” พูดถึงความรักของหนุ่มนครปฐมกับสาวสุโขทัย โดยเนื้อร้องมีมุขขำๆ ทว่า กินใจ อย่างเช่น ท่อนแรกที่ร้องว่า “พี่อยู่ไกลถึงบ้านยายหอม เหน็ดเหนื่อยก็ยอม นั่งสานชะลอมด้วยจนยาก พี่อยู่บ้านนามีแต่ปลาร้าเอามาฝาก สู้ทนหิ้วมาลำบาก รับของฝากปลาร้าได้ไหม”



ในท่อนต่อมา ผู้แต่งได้นำกัญชาเข้ามาอยู่ในเพลงรักอย่างแนบเนียนและดูอ่อนหวาน ดังที่ร้องว่า “พี่คร่ำครวญหวนให้ไฝ่ถึง เฝ้าแต่รำพึงถึงน้องเนื้อเย็นจนเป็นไข้ พี่เลิกกัญชาด้วยปรารถนาเธอยิ่งใหญ่ แม่คุณเห็นใจหรือไม่ แล้วเมื่อไหร่จะติดตามมา”



เนื้อหาเพลง “บ้านยายหอม” ที่พรรณนาถึงน้องนางอันเป็นที่รักซึ่งอยู่ห่างไกล ทำให้มองเป็นภาพวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน ซึ่งการสัญจรไปมาระหว่างกันไม่สะดวกอย่างทุกวันนี้



อย่างที่คำรณร้องว่า “บ้านยายหอมกับสุโขทัย ไม่เห็นจะไกลแค่ไหน เมื่อมีขวัญใจคอยท่า พี่เดินสามเดือน ก็เสมือนเดินสามทิวา จากนครปฐมมา พี่นี้ก้มหน้านับหมอนรถไฟ”




“ครูเพลง” เลือกที่จะให้เพลงนี้จบแบบจิ๊กโก๋มีความรัก ด้วยเนื้อร้องดังนี้ “เรื่องกัญชานั้นพี่เรียนรู้ แต่เรื่องเจ้าชู้ ไม่รู้จะเรียนยังไงได้ หัดสูบกัญชาง่ายกว่าเรียนรักและเรียนใคร่ หัดเพียงเดี๋ยวเดียวก็ได้ รักไฉนยากกว่ากัญชา




เพลง  มนต์การเมือง


อย่างไรก็ดี หากไม่รวมที่เกี่ยวกับกัญชา เพลงของ “คำรณ” ได้นำพาชีวิตของเขาเข้าสู่ความท้าทายหลายครั้งหลายคราว โดยเฉพาะความท้าทายกับอำนาจรัฐในยุคนั้น เนื่องด้วยหลายบทเพลงที่แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ และ ครูเสน่ห์ โกมารชุน บุคคลสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเขา ล้วนแล้วแต่เสียดสีการเมือง
ด้วยเหตุนี้ “คำรณ” จึงถูกจับเข้าคุกหลายหน และต่อมายังถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏแผ่นดิน
คำรณร้องเพลงเสียดสีการเมืองไว้มากมายก่ายกอง เช่น มนต์การเมือง, สามล้อแค้น, อสูรกินเมือง, ขวานทองของไทย, บ้านผม ผมรัก, ตาสีกำสรวล 1-2, เทวดาขี้โกง, คนไทยเมืองทอง, ไอ้ทุยแถลงการณ์, ลูกสาวตาสี, ใครค้านท่านฆ่า, เขาพระวิหารแห่งความหลัง, ชีวิตนักโทษการเมือง, ศาลเตี้ย เป็นต้น









และยังมีเพลง “ชีวิตคำรณ” ซึ่งได้บรรยายฉากชีวิตอันผาดโผนของชายหนุ่ม และคำรณไม่พลาดที่จะนำกัญชาเข้าไปอยู่ในเพลง โดยร้องว่า



“น้ำตาเสือกตกคราวนี้ ติกคุกหลายปีเลยติดกัญชา ผมบ้ากัญชาจนหูตาลาย หัวเราะเจียนแทบตาย ที่เห็นควายมันเป็นบ้า”





ในปี 2500 หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพลงของ “คำรณ” ก็เหมือนจะเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องด้วยคณะรัฐประหารมีความเข้มงวดในการแสดงออกทางการเมือง กระนั้นก็ตาม ด้วยความที่เขาเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ถึงลูกถึงคน ฉะนั้นแล้วจึงไม่ยอมฟังคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ และยังดื้อร้องเพลงเสียดสีการเมืองอย่างไม่กลัวเกรง ด้วยความทะนงตัวเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ชีวิตของเขาจะเข้าออกคุก และกลายเป็นที่จับตาของผู้มีอำนาจ

เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 นักร้องอันตรายอย่างคำรณ จึงเดินทางสายดนตรีได้สะดวกมากขึ้น แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น เพราะหลังปรากฏตัวในรายการ “เพลงลูกทุ่ง” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม ในปี 2509 จากนั้นเขาก็เงียบหายไป




กระทั่งปี 2512 ภายหลัง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป จนได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง



นั่นเป็นปีเดียวกับที่ “คำรณ สัมบุญณานนท์” เสียชีวิตด้วยโรคปอด เพราะเสพทั้งกัญชา ฝิ่น บุหรี่ใบจาก ราชาเพลงชีวิต การเมือง และกัญชา จากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 49 ปี เท่านั้น 


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก มติชนสุดสัปดาห์










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น