คลังบทความของบล็อก

20 พฤศจิกายน 2561

โคราช มาจากไหน? (ฉบับย่อ)



                                             ไทโคราช มาจากไหน?






    คนไทโคราช มีลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์เด่นๆ เฉพาะตนหลายอย่าง แทบจะเรียกได้ว่าไม่เหมือนใครในโลก จะว่าไทยอีสานก็ไม่ใช่ ไทยภาคกลางก็ไม่เชิง เป็นส่วนประสมที่มีความต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความผสมผสานกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เกิดเท็กซ์เจอร์แปลกตาและน่าพิสมัยไปพร้อมๆ กับความพิศวง

     นับอายุของการสร้างบ้านสร้างเมืองโคราช ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันได้รับการบันทึกอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อประมาณก่อนปี พ.ศ.2225 มาถึงทุกวันนี้ก็กว่า 350 ปี ถือได้ว่าเมืองโคราชเป็นเมืองที่มีความสำคัญ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เปรียบไปก็เป็นเสมือนเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นศูนย์กลางของหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

      โคราช หรือนครราชสีมา มีความเป็นมาทั้งของผู้คนและของดินแดน มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีคับคั่ง และหลากหลาย แยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์หรืออาเซียน ที่บริเวณผืนแผ่นดินใหญ่ที่มีชื่อเรียกเก่าแก่มาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ว่า ‘สุวรรณภูมิ’  ทั้งนี้ เพราะโคราชหรือนครราชสีมาเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล ทางภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย





ทั้งนี้ จากบทความที่เขียนขึ้นโดย ผศ.นฤมล ปิยวิทย์ ความว่า “จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชุมชนโบราณซึ่งเป็นร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ต่อเนื่องมาถึงยุคโลหะ กระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา ครั้นถึงสมัยประวัติศาสตร์ก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเสมา ตั้งอยู่บริเวณอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เป็นเมืองใหญ่ เชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของรัฐศรีจนาศะ ต่อมาในสมัยขอมพระนคร มีการสร้างเมืองนครราชอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยมีเมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญ ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้สร้างเมือง ณ ที่ตั้งปัจจุบัน พระราชทานนามว่าเมืองนครราชสีมา พร้อมทั้งส่งขุนนางคือ พระยายมราช (สังข์) มาปกครองเป็นพระยามหานครต่างพระเนตรพระกรรณ พร้อมทั้งอพยพขุนนางทหารและครอบครัวจากกรุงศรีอยุธยามาเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นข้าราชการประจำเมืองนครราชสีมา



“จากนั้นชาวอยุธยาอพยพมาอยู่นครราชสีมาครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยมีชาวไทยชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกได้อพยพเข้ามาด้วย เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ขุนนางที่มาปกครองเมืองนครราชสีมาและเมืองบริวารก็ถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการผสมผสานทางชาติพันธุ์กับกลุ่มชาวพื้นถิ่นที่อยู่เดิม เป็นชาวไทยโคราช ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองในด้านต่างๆ ทั้งเครื่องแต่งกาย อาหารการกิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ ดนตรี นามสกุลคนโคราช และที่สำคัญคือ ภาษาโคราช ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น




“จากสถิติ จังหวัดนครราชสีมามีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจากกรุงเทพฯ ประกอบด้วยประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ด้วยกัน แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากมีอยู่สองกลุ่มใหญ่คือ ไทยโคราช รองลงมาคือ ไทยอีสาน และมีชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีก ได้แก่ มอญ ส่วย ญวน แขก และจีน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยความที่ชาวไทยโคราชมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงระหว่างไทยภาคกลาง จึงส่งผลให้ภาษาไทยโคราชมีความคล้ายคลึงกับภาษาในภาคกลางของประเทศค่อนข้างมาก แตกต่างกันตรงที่สำเนียงที่มีลักษณะเหน่อ ห้วนสั้น มีคำไทยลาวหรือไทยอีสานและเขมรปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย มักจะใช้เสียงเอกแทนเสียงโท เช่น คำว่า ม่า แทนคำว่า ม้า ใช้คำว่า เสื่อ แทนคำว่า เสื้อ เป็นต้น ทำให้มีเสียงวรรณยุกต์เพี้ยนไปจากเดิมบ้าง ถึงกระนั้น ภาษาไทยโคราชก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเองค่อนข้างสูง กลุ่มไทยโคราชจึงเป็นกลุ่มที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี




“คนไทยโคราชอาศัยอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ยกเว้นบางอำเภอที่มีชาวไทยลาวมากกว่า เช่น อำเภอสูงเนิน บัวใหญ่ และปักธงชัย เป็นต้น นอกจากนั้น ชาวไทยโคราชยังอาศัยอยู่ในบางส่วนของจังหวัดสระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ (ในอำเภอเมืองบุรีรัมย์ นางรอง และหนองกี่) รวมไปถึงชัยภูมิ (ในอำเภอบำเหน็จณรงค์และจัตุรัส)” ด้วย  

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ข้อมูลจาก - พลเชษฐ์ พันธ์พิทักษ์ (moremove.com)







     

     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น