คลังบทความของบล็อก

21 พฤศจิกายน 2561

แม่น้ําเจ้าพระยา มาจากไหน ?(รวมภาพเก่า)







คนึงนอนนครสวรรค์ ไพรวัลย์ ลูกเพชร


ยามมาเยือนกรุงเทพฯ  ผมก็มักมาทักทายแม่นํ้าเจ้าพระยาแทบทุกครั้งเมื่อมีโอกาส  ชอบมานั่งดูวิถีชีวิตของคนเมืองกรุง   ชอบดูบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่นํ้า  สิ่งที่ได้แลเห็นคือความเปลี่ยนแปลงของแม่เจ้าพระยา   จากอดีตจนถึงปัจจุบันแม่เจ้าพระยาแปรเปลี่ยนไปมากนัก   ความแออัดเบียดเสียด  ความเร่งรีบในการใช้ชีวิตสองริมฝั่งนํ้า  ทำลายบรรยากาศของแม่เจ้าพระยาไปพอควร   เมื่อยามเยาว์วัย...เคยสงสัยว่า  แม่เจ้าพระยามาจากไหน ?  เมื่อเจริญวัยขึ้นจึงทราบว่า  แม่เจ้าพระยา....แม่มาจากที่ใด   และเมื่อใด...แม่จะกลับไปงดงามเหมือนดังอดีตเล่า ? แม่เจ้าพระยาจ๋า 



แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายใหญ่ในภาคกลาง ที่ได้รับน้ำจากแควสำคัญ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลมาจากภาคเหนือ มาบรรจบกันที่ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำสายอื่นๆไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งแม่น้ำ เจ้าพระยาเองก็แยกสาขาไหลออกทะเลด้วย แควสำคัญ 4 สาย มีแหล่งกำเนิดต้นน้ำดังนี้
1.แควปิง ยาว 580 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากภูเขาตอนเหนือของอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
2.แคววัง ยาว 335 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากภูเขาตอนเหนือของลำปาง ไหลมา บรรจบกับแควปิงที่บ้านปากวัง อ.บ้านตาก จ.ตาก
3.แควยม ยาว 555 กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากภูเขาขุนยวมในอ.ปง จ.เชียงราย ไหลมาบรรจบกับแควน่านที่ ต.เกียชัย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์
4.แควน่าน ยาว 627 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาหลวงพระบาง ในอ.ปัว จ.น่าน ไปบรรจบกับแควปิงที่ ต.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ 




ลักษณะเด่น
แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นระบบน้ำใหญ่เพียงระบบเดียวในภาคกลาง ซึ่งมีความยาว ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือที่ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ แล้วไหลผ่าน เส้นแบ่งเขต จ.อุทัยธานี กับ จ.ชัยนาท เข้าเขต จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนคร- ศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ไปออกทะเลที่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทร- ปราการ มีความยาว 370 กิโลเมตร เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และมี ขนาดใหญ่จึงมีสาขาแยกย่อยออกเป็นแม่น้ำอื่นๆอีก 3 สายด้วยกันคือ
1.แม่น้ำลพบุรี ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.ม่วงหมู่ อ.สิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี แล้วไหลเข้าเขต จ.ลพบุรี ผ่านเมืองลพบุรี จากนั้นไหลเข้าเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ไปบรรจบ กับแม่น้ำป่าสักวัดตองปุ ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา
2.แม่น้ำน้อย ไหลจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.ชัยนาท ผ่านเขต จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ตรงบริเวณเลยที่ตั้งอ.เสนาไปเล็กน้อยไปบรรจบกับคลองบางบาล ซึ่งเป็น แม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่บ้านสีกุก แล้วไหลต่อไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศตะวันออก ของที่ตั้ง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
3.แม่น้ำท่าจีน ไหลแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ผ่านจ.ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ไปลงทะเลที่อ.เมืองสมุทรสาคร แม่น้ำสายนี้มีชื่อเรียกแตก ต่างกันเป็นตอนๆ คือ ตอนที่ไหลอยู่ในเขต จ.ชัยนาท เรียกชื่อว่าแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลเข้าเขต จ.สุพรรณบุรี เรียกว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี ไหลเข้าเขต จ.นครปฐม เรียกว่า แม่น้ำนครชัยศรี และ เมื่อไหลเข้าเขต จ.สมุทรสาคร เรียกว่าแม่น้ำท่าจีน 





ทำไม่แม่นํ้าสายนี้จึงชื่อ"เจ้าพระยา"   ข้อนี้เท่าที่ผมเสาะหาข้อมูล  ก็มีอยู่หลายกระแส  แต่จะเอาเป็นข้อมูลที่เด่นชัดแลดูเป็นวิชาการ  ก็น่าจะเป็นประมาณนี้    (อ้างที่มาของชื่อจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาของ   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ )

  ซึ่ง....จริงๆแล้วชื่อ แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้มีเจ้าพระยาคนไหนมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น  แต่มีที่มาจากชื่อสถานที่ที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านต่างหาก
แต่ก่อน แม่น้ำเจ้าพระยาจะชื่ออะไร ไม่มีหลักฐาน ปรากฏชัดเจน แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนไว้ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า   "ที่เราเรียกกันว่า ปากน้ำเจ้าพระยา ทุกวันนี้ แต่โบราณเรียกว่า ปากน้ำพระประแดง ภายหลัง เมื่อแผ่นดิน งอกห่างออกไปไกล เมืองพระประแดง จึงเรียกว่า ปากน้ำบางเจ้าพระยา"    ในสนธิสัญญาที่ไทย ได้ทำกับประเทศฝรั่งเศสครั้ง ม.ลาลูแบร์ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า "แม่น้ำบางเจ้าพระยา"    ส่วน ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในคอลัมน์ "ข้าวไกลนา" หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2520 ว่า   "แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มต้นที่ จุดรวมของ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิง ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ไปสิ้นสุดไหลออกทะเล ที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ตรงที่แม่น้ำนี้ ไหลออกทะเลนั้น เคยมีชื่อว่า เจ้าพระยา ซึ่งเป็นชื่อตำบลนั้น  ก็เลยใช้เรียกชื่อแม่น้ำทั้งสายว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับเอาชื่อ ตำบลที่แม่น้ำสายอื่น ๆ ไหลออกสู่ทะเล ไปเป็นชื่อแม่น้ำ เช่น แม่น้ำบางประกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง เป็นต้น"





หรือจะเป็นข้อเขียนของ อาจารย์ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ  ก็ตามที่ผมคัดลอกมาดังนี้ครับ

แม่น้ำเจ้าพระยาในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย  
โดย อาจารย์ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

ชื่อ "แม่น้ำเจ้าพระยา" นั้น แต่ก่อนจะเรียกชื่อกันอย่างไรไม่ปรากฏ ในแผนที่เก่า พบแต่คำภาษาอังกฤษว่า แม่น้ำ (Manam River) ซึ่งเขียนตามที่ชาวบ้านเรียกว่า แม่น้ำ (Manam) ไม่มีชื่อแต่ในสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศสครั้ง ม. ลาลูแบร์ ได้เดินทางเข้ามา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เรียกว่า "แม่น้ำบางเจ้าพระยา" ("บางกระเจ้า"

แม่น้ำเจ้าพระยาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น น่าเชื่อในชั้นต้นก่อนว่าเรียกชื่อ แม่น้ำ (Manam River) เท่านั้น แม่น้ำสายนี้คดเคี้ยวมากเพราะไหลผ่านที่ราบลุ่มที่กว้างใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช พระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา ได้โปรดให้ขุดคลองลัด ลงแผ่นดินที่บริเวณคุ้งน้ำระหว่างบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ ต่อมาสายน้ำ ได้เปลี่ยนทางเดินไหลผ่านคลองลัดที่ขุดจนเซาะตลิ่งกว้างออกไปทุกที คลองนั้น ได้กลายเป็นแม่น้ำ ในปัจจุบันคือส่วนที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลข้างพระบรมมหาราชวังด้านท่าราชวรดิษฐ์เดี๋ยวนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ทีไหลผ่านคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ จึงแคบเป็นคลองเล็กๆ ไป แต่ก็คงเป็นแม่น้ำที่ไหลออกมาตามแม่น้ำสายเดิมออกสู่ทะเล บริเวณปากน้ำบางเจ้าพระยา ซึ่งเป็นชื่อตำบลหนึ่งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ และเป็นที่มาของชื่อแม่น้ำ "แม่น้ำเจ้าพระยา"

ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลปากน้ำโพ หรือจังหวัดนครสวรรค์ปัจจุบันนี้ สมัยกรุงศรีอยุธยา นับว่าเป็นชุมชนใหญ่ สำหรับหัวเมืองทางฝ่ายเหนือ ลงมาติดต่อค้าขายพ่อค้าชาวต่างชาติ หรือจากเมืองหลวง ดังนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนจึงมีตลาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางการค้าขาย ระห่วางเมืองนครสวรรค์กับเมืองสำคัญทางฝ่ายเหนือ เช่น จังหวัดตาก กำแพงเพชร เชียงใหม่ พ่อค้าที่ไปมาค้าขายที่มาจากทางเหนือนั้นจะถูก เรียกว่า พวกลาว จึงทำให้ตลาดนี้เรียกว่า ตลาดลาว มีสินค้าที่ส่งมาขายคือ ไม้สักและของป่า เช่น หวาย ชัน น้ำมันยาง สีเสียด เปลือกไม้ น้ำผึ้ง สีผึ้ง เป็นต้น มาขายกับพ่อค้าในเมือง แล้วขากลับจะซื้อข้าวและเกลือกลับขึ้นไป ตลาดลาวนี้มีพวกมอญเข้ามาค้าขายโอ่งด้วย

ส่วนตลาดที่ขายข้าว ในเขตอำเภอโกรกพระ เรียก ตลาดท่าชุบ ใช้ติดต่อกับเมืองต่างๆ โดยรอบ เช่น พิจิตร ตาก กำแพงเพชร เป็นต้น ตลาดนี้จะมีพ่อค้าคนจีนคอยรับซื้อข้าว และลงเรือไปขายที่เมืองกรุง ด้วยเรือกระแชงขนาดใหญ่ ขากลับเรือจะบรรทุกเกลือ และมะพร้าว น้ำตาลปีบ ขึ้นมาขายกันที่ตลาดนี้ต่อไป และอีกตลาดหนึ่ง คือตลาดสะพานดำ เป็นตลาดที่ใช้ติดต่อค้าขายกับพ่อค้าต่างหมู่บ้านต่างอำเภอในเขตอำเภอโกรกพระ พยุหะคีรี บรรพตพิสัย โดยมี ข้าว สัตว์ป่า และของป่า เช่น หวาย เปลือกสีเสียด เป็นต้น เป็นสินค้า ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

เมืองนครสวรรค์จึงเป็นชุมชนใหญ่จากพ่อค้าหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ต่อกัน โดยเฉพาะการค้าไม้สักและของป่า เป็นสินค้าหลักเช่นเดียวกับข้าว ในขณะที่ข้าวเปลือกได้ถูกขนลงเรือสำปั้นนับร้อยลำ ไม้ซุงจำนวนนับร้อยท่อนก็ถูกผูกเป็นแพ อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อล่องลงไปขายยังกรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียว กับสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองต่างๆ ทางเมืองเหนือก็มักจะส่งสินค้า ข้าว ไม้สัก กระวาน กานพลู ดินขี้ค้างคาวสำหรับทำดินปืนส่งกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน

บริเวณที่ราบแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ แบ่งย่อยออกเป็นสองตอน คือ ตอนเหนือในลุ่มแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน และตอนใต้ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำบางประกง แผ่นดินของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนากว้างใหญ่มีคลองที่ขุดต่อนื่องกันอยู่มากมาย เวลาหน้าน้ำหลากจนท่วมพื้นดิน ก็จะนำน้ำท่วมทุ่งนาเจิ่งและพัดพาเอาดินเลน ที่มีปุ๋ยเป็นตะกอนมาให้พื้นดิน ทำให้พื้นที่ราบทั้งหมดมีปุ๋ยเหมาะสมกับการทำนา ปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นแหล่งที่ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย

ส่วนที่เป็นปากแม่น้ำที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะเกิดมีดินดอนสามเหลี่ยมต่อเนื่อง เป็นอันเดียวกัน เกิดเกาะน้อยใหญ่เป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินน้ำไหล ทรายมูลในแม่น้ำสายใหญ่ และด้วยเหตุที่แม่น้ำเจ้าพระยานั้นไหลคดเคี้ยวไปมา จนเกิดพื้นที่เกาะขนาดใหญ่ได้กลายเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยมีแม่น้ำล้อมรอบ และพื้นที่เกาะนั้นได้ตั้งราชธานี คือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ การตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของคนสยามหรือคนไทยนั้น ได้มีความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ต่อภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองหลายสายหลายแคว ซึ่งเป็นแหล่งมีปลา และไหลผ่านลงสู่ทะเล ทำให้พื้นที่อุดมสมบรูณ์ด้วยเรือกสวนไร่นา ซึ่งมีข้าว และพืชพันธ์ธัญญาหารเพาะปลูกได้มากมายหลายชนิด จนมีคำกล่าวว่า "ในน้ำมีปลาในนามีข้าว" และแม่น้ำนั้นจะเป็นเส้นทางที่ผู้คนได้ใช้อาศัยสัญจรไปมา ติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยใช้เรือเป็นพาหนะ ดังนั้น คนไทยจึงได้ตั้งบ้านเมือง เป็นหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเมืองใหญ่ และราชธานีของอาณาจักรต่าง ๆ ได้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำทั้งสิ้น เช่น กรุงสุโขทัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม นครพิงค์หรือเชียงใหม่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง กรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร ก็ได้สร้างเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน

อาชีพเกษตรกรรมของคนไทยนั้น ได้อาศัยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองต่าง ๆ เข้าไปช่วยการทำนา รู้จักสร้างระหัดวิดน้ำหรือหาวิธีนำน้ำจำนวนมาก จากแม่น้ำให้ไหลเข้าสู่ท้องนานับพันไร่พื้นที่นาจะขุด ดินยกขันทำเป็นขอบกั้น ให้น้ำคงอยู่เลี้ยงต้นข้าว การพลิกพรวนดินได้ใช้แรงควายลากไถ อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนาปลูกข้าว ซึ่งคนไทยได้เรียนรู้การเพาะต้นกล้า สำหรับนำลงไปปลูกเรียงกันในพื้นที่นาอย่างมีระเบียบ การเติบโตของต้นข้าวนั้น ต้องอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงให้ข้าวออกรวง และให้มีเมล็ดข้าวสีทองจำนวนมากมาย แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีการเพาะปลูกพืชไร่อย่างอื่น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ถั่วเหลือง เป็นต้น การทำนาปลูกข้าวยังเป็นความชำนาญและอาชีพหลักของคนไทย 



































ขอขอบคุณ อาจารย์ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ เจ้าของบทความ แม่น้ำเจ้าพระยาในประวัติศาสตร์ของไทย
ขอขอบคุณ นายจักรยาน สีเหลือง จาก WWW.ThaiMTB.com  , wikipedia

-------------------------------------------















































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น