ผ่องประไพ “พระราชธิดาที่ถูกลืม” จอมนางแห่งราชสำนักไทย คนที่ 6
พระราชธิดาองค์นี้ไม่ว่าจะเปิดประวัติศาสตร์หน้าไหนๆ ก็ปราศจากการบันทึกเรื่องราวของพระองค์ไว้ ทั้งๆที่พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์แรกของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ นับได้ว่าเป็นพระราชธิดาเพียงองค์เดียวที่ทรงอาภัพนัก อาศัยอยู่ในตำหนักเก่าๆ ค่อนข้างต่างจากตำหนักของน้องๆที่มีขนาดใหญ่โตหรูหรา
มีเรื่องเล่ากันว่าพระองค์เป็นพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่เก็บตัวอยู่แต่ในพระตำหนัก แทบจะไม่ได้ย่างก้าวออกจากประตูพระบรมมหาราชวังตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันสิ้นพระชนม์เลย
เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชกาลที่4 ได้ปรากฏพระนามเจ้าฟ้าชายพระราชกุมาร นามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์” พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระมเหสี เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นก็ทรงมีหม่อมโดยไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัชกาลที่4 ซึ่งหม่อมท่านนี้นามว่า หม่อมราชวงศ์แข ผู้ใกล้ชิดที่เติบโตมาด้วยกันในตำแหน่งพี่เลี้ยงประจำพระองค์ ไม่นานนักหม่อมราชวงศ์แขก็ได้ประสูติพระธิดา พระนามว่า หม่อมเจ้าหญิงผ่อง
เมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 หม่อมราชวงศ์แขจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาแข ส่วนพระธิดาก็ได้รับการสถาปนายศขึ้นเป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ ครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์หญิงผ่องมีพระชนมายุ 6 พรรษา รัชกาลที่5 จึงลาผนวช ในวันที่เสด็จออกผนวชนั้นพระราชวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการก็ต่างพากันมาหมอบเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมชาววัง แต่รัชกาลที่5 ทรงรับสั่งให้ทุกคนยืนเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่ง ดังนั้นบรรดาพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการจึงพากันยืนเข้าเฝ้า แต่ทว่ามีพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งไม่ทรงยอมที่จะประทับยืน เจ้านายพระองค์นั้นคือ"พระองค์หญิงผ่อง ด้วยความที่พระองค์เป็นเด็กที่ยึดมั่นกฎระเบียบตามโบราณประเพณีจึงมิยอมยืนขึ้น ยังคงหมอบกราบอยู่" รัชกาลที่5 เห็นดังนั้นก็ทรงกริ้วนัก ถึงกับเสด็จไปดึงพระเมาลี (จุกผม) ให้พระราชธิดายืน แต่พระองค์หญิงผ่องก็มิทรงยืน เพราะเหตุนี้พระเจ้าอยู่หัวจึงไม่โปรดพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มากนัก "ถึงแม้จะเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกก็ตาม"
เป็นที่รู้กันทั้งวังหลวงว่า พระองค์หญิงผ่อง มิได้เป็นที่สนิทเสน่หาของพระเจ้าอยู่หัวมากนัก เพราะพระองค์หญิงทรงมีพระอุปนิสัยดื้อดึงยึดมั่น ไม่ฉลาดนัก อีกทั้งมีพระโฉมไม่ค่อยงาม เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ใด บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาต่างๆ ก็จะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตามเสด็จอยู่เสมอๆ "มีเพียงพระองค์หญิงเพียงพระองค์เดียวที่มิเคยได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปไหนเลย" แม้คราวสร้างพระราชวังดุสิต บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาก็ได้รับพระราชทานตำหนักใหญ่น้อยอยู่ในพระราชวังดุสิต" แต่พระองค์หญิงผ่องนั้นมิเคยได้รับพระราชทานตำหนักในพระราชวังดุสิต พระองค์จึงประทับอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวังอยู่อย่างนั้นเอง
รูปตำหนักที่พระองค์หญิงผ่องทรงประทับ
มีเรื่องราวที่ทำให้พระองค์หญิงรู้สึกดีพระทัย และมีความสุขอยู่ครั้งหนึ่งคือ พระเจ้าอยู่หัวมีกำหนดการจะเสด็จจากพระราชวังดุสิตเข้าเยี่ยมวังหลวง ชาววังต่างก็เตรียมการรับเสด็จกันอย่างดีใจ พระองค์เจ้าผ่องก็เช่นกัน พระองค์ทรงทำพัดจากขนนกขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทูลเกล้าฯถวาย เมื่อถึงวันเสด็จพระราชดำเนิน พระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จไปตามลาดพระบาท ทักทายเจ้านายโดยทั่วกัน ในขณะที่เสด็จอยู่นั้นพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทอดพระเนตรเห็นพระองค์หญิงผ่องหมอบรอเฝ้าอยู่เหมือนเดิม
ต่างกันที่คราวนี้ พระองค์หญิงมีพระชนมายุราวๆ40พรรษาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตรัสว่าอะไร เพียงแค่หยุดแล้วรับเอาพัดขนนกไว้ พระองค์หญิงผ่องจึงรีบกราบไปแทบพระบาทของพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถามว่า ลูกหญิงอยากได้อะไร พระองค์หญิงผ่องจึงกราบทูลว่า "อยากได้ธำมรงค์(แหวน)เพคะ" พระเจ้าอยู่หัวทรงตอบว่า "ได้แล้วพ่อจะให้"
ว่ากันว่าพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระธำมรงค์ฝังเพชรเม็ดงามมากๆแก่พระราชธิดาตามพระประสงค์ พระองค์หญิงผ่องทรงกราบอีกครั้งด้วยน้ำพระเนตรที่คลอ เพราะในชีวิตของพระองค์ไม่มีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคบาทเหมือนน้องๆพระองค์อื่นเลย แล้วพระเจ้าอยู่หัวก็ถือพัดชนนกอันนั้นขึ้นมาพัดแล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไป สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พระองค์หญิงผ่อง เจ้านายบางพระองค์ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นถึงกับพากันกลั้นน้ำพระเนตรไม่อยู่เลยทีเดียว นามสกุลที่เกี่ยวข้องกับพระองค์คือ ราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา ทางเจ้าจอมมารดาของพระองค์ คือ หม่อมราชวงศ์แข พึ่งบุญ ธิดาในหม่อมเจ้านก พึ่งบุญ
พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์โตสุดแต่ชาววังเรียกพระองค์ว่าเสด็จพระองค์ผ่อง แต่พระราชธิดาองค์รองชาววังจะเรียกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่
ในภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ และรูปตำหนักที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในแบบโบราณ
เครดิตจาก Orawan Pooks ,เรื่องเล่า ภาพเก่าในอดีต เพจ คลังประวัติศาสตร์
--------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น