คลังบทความของบล็อก

15 ธันวาคม 2561

เรื่องเล่าก่อนการสร้างอนุสาวรีย์ย่าโม





เหตุการณ์ก่อนการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี



เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์กบฎบวรเดช ฝ่ายก่อการนำทหารจากโคราช อุดรธานี และเพชรบุรี เข้าสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาลที่ทุ่งบางเขน กรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์ มีทหารโคราชเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีทหาร ข้าราชการ ประชาชน ที่ถูกจับในฐานะเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายกบฏถึง 235 คน เนื่องจากโคราชเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของฝ่ายกบฏ หลังเหตุการณ์มีผู้ยุยง เสียดสี ดูหมิ่นให้ร้ายว่าคนโคราชเป็นกบฏ รัฐบาลจึงได้สั่งลงโทษผู้ที่ให้ร้าย เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง และมีแถลงการณ์ประกาศชี้แจงว่า การที่ทหาร ข้าราชการ และชาวโคราชให้ความร่วมมือฝ่ายกบฏ เพราะความหลงผิด โดยเชื่อฝ่ายกฏบว่าจะนำกำลังไปปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ



เพื่อให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ให้มีความแตกแยกในบ้านเมือง และเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รัฐบาลจึงให้มีการเผาศพทหารที่เสียชีวิตจากในที่รบอย่างสมเกียรติ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2476 และให้วันที่ 17 พฤศจิกายน 2476 เป็นวันทำขวัญเมืองด้วย โดยมีการเดินขบวนของทหารหน่วยต่างๆ ลอดประตูชุมพลเข้าเมืองนครราชสีมา เดินขบวนตามถนนจอมพล ไปสักการะศาลหลักเมือง และท้าวสุรนารี(สถูปเจดีย์ของย่าโม ที่วัดพระนารายณ์มหาราช) ในตอนกลางคืนมีการจัดมหรสพที่มีชื่อเสียงจากกรุงเทพ มาแสดงอย่างมากมาย และทางจังหวัดจัดคณะเพลงโคราชมาแสดงด้วย มีพ่อค้า ข้าราชการ ประชาชนมาร่วมงานนี้เป็นจำนวนมาก 






และด้วยเหตุที่กู่บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีได้ทรุดโทรมลง อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ(ดิศ อินทโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และพันโทพระเริงรุกปัจจามิตร(ทอง รักสงบ) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 3 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้น ทั้งเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูวีรกรรมของย่าโม และชาวนครราชสีมาในอดีตด้วย การสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่นาน ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท้าวสุรนารี ที่วัดพระนารายณ์มหาราช นำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล โดยสร้างแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2477 











ข้อมูลอ้างอิงจาก - หนังสือ ย้อนรอย 100 ปี โคราชวาณิช 

ข้อมูลอ้างอิง - reurnthai.com, วิกิพีเดีย, หนังสือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ภาพโดย - เพจ โคราชในอดีต, เพจ ภาพเก่าเล่าเรื่อง











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น