คนที่รู้จักลมมากที่สุดเห็นจะเป็นชาวทะเลเพราะจำเป็นต้องใช้ในการออกเรือ ทำมาหากิน และเอาชีวิตให้รอดในยามพายุจะมา
สำหรับคนทะเลการออกเรือสมัยก่อน ต้องแล้วแต่ลม ดูลมเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละเดือนกระแสลมพัดต่างกัน ลุงไหม บุญเรือง คนทะเลอำเภอบ้านแหลม อายุ ๘๐ ปี เล่าว่าสมัยก่อนไม่มีเข็มทิศ ไม่มีเครื่องยนต์ มีแต่ใบเรือกับความรู้เรื่องลมและดาวไว้กำกับทิศ ลุงไหมต้องใช้ลูกศรติดเรือใบคอยดูลม เพราะลมแต่ละชนิดพัดตามเวลา หากรู้เดือนกับดูลมเป็น ก็จะรู้ทิศ สามารถแล่นเรือตะบึงไปข้างหน้าไม่ผิดจุดหมาย หากบางฤดูลมพัดตีกลับ ยิ่งต้องรู้จักจับทิศให้แม่นยำ จะได้เดินเรือถูกวิธี อาศัยวิ่งเรือโดยการวิ่งซอยแบบฟันปลาเพื่อหลีกกระแสลม แล่นออกแล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่เพื่อรักษาเส้นทาง บางวันจึงไปได้ไกลเพียงแค่ไม่กี่เมตร
ลมต่างๆ ที่ลุงไหมเล่าถึง มีทั้งลมยืนและลมแซม ลมยืนพัดประจำอยู่ ๘ ทิศ ในเวลากลางวัน ส่วนลมแซมพัดกลางคืน มาชั่วประเดี๋ยว ครั้งละครึ่งชั่วโมงบ้าง หนึ่งชั่วโมงบ้าง พัดเร่ไปตามเข็มนาฬิกา และจะมีลมหลักๆ อยู่ ๓ ชุด หมุนเวียนกันไปชุดละ ๔ เดือน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ คือ
ลมว่าว เป็นลมยืนพัดจากทิศอุดรลงทักษิณ สวนทางกับลมสลาตัน เริ่มลงตั้งแต่เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ไปถึงเดือน ๒ (ตุลาคม-มกราคม) ตามกำหนดโบราณลมว่าวจะลงเดือนตุลาคมเป๊ะ เดี๋ยวนี้เริ่มช้าไป
ลมว่าวอุกา พัดเร่ไปมาระหว่างลมว่าวและลมอุกาสวนทางกับพัทธยาปลายแหลม เป็นพร้อมๆ กับลมว่าวในช่วงเดือน ๑๑-๑๒ และพัดเร่ไปจนถึงเดือน ๒ (ตุลาคม-มกราคม)
ลมอุกา เป็นลมยีนพัดจากอีสานไปหรดี สวนทางกับพัทธยา ทำให้เกิดคลื่นในทะเลถี่
ลมอุกากับลมว่าวจะอยู่ด้วยกัน ตอนเช้าว่าว สายเร่เป็นว่าวอุกา บางทีก็มีลมตะวันออกเร่มาผสม ในช่วง ๔ เดือนตั้งแต่ตุลาคมถึงมกราคม ลมว่าว ลมว่าวอุกาจะเป็นไปด้วยกัน พอสัก ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๑ ค่ำ ลมจะมาผสมให้น้ำเกิด และในหน้ามรสุมจะมีลมอุกาพัดแทรกอยู่ด้วย
ลมอุกาตะวันออก พัดสวนทางกับลมเชิงพัทธยา เป็นลมอันตรายเรือมักจมเพราะลมนี้ มักจะพัดแทรกลมไต่ฝุ่นหรือลมตะวันออก เป็นในเดือน ๑๑-๒ (ตุลาคม-มกราคม)
ลมตะวันออก เป็นลมยืนพัดจากบูรพาไปประจิม สวนทางกับลมตะวันตกเป็นลมที่น่ากลัวมาก ไต้ฝุ่นจะมากับลมนี้ เรือล่มเพราะลมนี้บ่อย พัดระหว่างเดือน ๑๑-๒ (ตุลาคม-มกราคม) บางทีพัดแทรกในช่วงปลายเดือน ๕ ก็มี
สิ้นสุดชุดลมว่าวกับลมตะวันออกเมื่อลมหัวเขาพัด ก็เป็นสัญญาณว่ากำลังจะเข้าสู่ชุดลมตะเภาและลมสลาตัน
ลมหัวเขา ลมตะวันออกจะเร่เป็นลมหัวเขา ออกตอนมืดๆ เย็นๆ สวนทางกับลมเชิงตะโก้ พัดเพียงแค่ ๔๕ วันพอดี พัดอยู่ในช่วงเดือน ๓-๔ (กุมภาพันธ์-มีนาคม)
ลมตะเภา เป็นลมยืน พัดจากอาคเนย์ไปพายัพ สวนทางกับลมตะโก้พัดหลวงลงพร้อมๆ ลมสลาตันในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม แต่จะพัดอยู่เพียง ๔๕ วันเท่านั้น เริ่มลงตอนเพลไปแล้ว จากนั้น ๒ ชั่วโมงค่อยเร่ไปสลาตัน อยู่นาน ๔ ชั่วโมงแล้วจึงเร่เข้าพัทธยา เวลาลมตะเภาพัด ชาวเรือเรียกว่าตะเภาแขวนโคมเพราะมีเติ่งใหญ่ออกเรือไม่ได้
ระหว่างลมตะเภาและลมสลาตันแคบมากไม่มีลมแซมพัดแทรก
ลมสลาตัน เป็นลมยืนพัดจากทักษิณขึ้นอุดร สวนทางกับลมว่าว ลงเดือน ๓-๖ (กุมภาพันธ์- พฤษภาคม) พร้อมๆ กับลมตะเภาพัทธยาปลายแหลม พัดสวนทางกับลมว่าวอุกา ลงเดือน ๓-๖ (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม)พัดเวลากลางคืน
พ้นจากหน้านี้ไปลมจะเปลี่ยนชุดไป เป็นชุดของลมตะวันตกและลมพัทธยา
ลมพัทธยา เป็นลมยืนพัดจากหรดีไปอีสาน สวนทางกับลมอุกาลงในเดือน ๖-๑๐ (พฤษภาคม-กันยายน) ลมน้อยเป็นไม่มาก เช่นเป็นตะเภาแล้ว ๕ ทุ่ม พอ ๖ ทุ่มเร่เป็นสลาตัน สัก๒ ชั่วโมงเป็นพัทธยาก็สว่างแล้ว
ลมเซิงพัทธยา (เซิงไส้แห้ง) พัดหน้าเดียวกับพัทธยาคือเดือน ๖-๑๐ (พฤษภาคม-กันยายน) สวนทางกับลมอุกาตะวันออกพัดคล้ายพัทธยา ลงหนักในเดือนพฤษภาคม,มิถุนายน ชาวเรือเรียกลมนี้ชื่อหนึ่งว่า “เซิงไส้แห้ง”เนื่องจากเมื่อลมนี้พัดออกทะเลจะไม่ได้ปลา ช่วงระยะจากลมเซิงไปถึงลมว่าวลมจะพัดถี่ขึ้นมาก
ลมตะวันตก เป็นลมพัดยืนจากตะวันตกไปตะวันออก สวนทางกับลมตะวันออกพัดเดือน ๖-๑๐ (พฤษภาคม-กันยายน) พัดเวลาบ่ายและเช้า จะพัดนานและทนกว่าลมอื่น เป็นลมเยือกเย็นพัดรินๆ จนลิงหลับตกต้นไม้ ทำให้คนไม่สบาย เนื่องจากพัดผ่านป่าเขา พาละอองว่านมาทำให้คนเจ็บป่วย เป็นไข้ทับฤดู หมอแรง อ่อนเพลีย
ลมเซิงตะโก้ เร่อยู่ระหว่างลมตะวันตกและลมตะโก้พัดหลวงพัดสวนทางกับลมหัวเขา ลงตั้งแต่เดือน ๖-๙ (พฤษภาคม-สิงหาคม)
ลมตะโก้พัดหลวง เป็นลมเย็น พัดจากพายัพไปอาคเนย์ สวนทางกับลมตะเภาลงในเดือน ๖-๙ พฤษภาคม-สิงหาคม)
ลมพัดหลวง เร่อยู่ระหว่างลมตะโก้พัดหลวงและลมว่าว ลงในเดือน ๖-๙ (พฤษภาคม-สิงหาคม)
พ้นจากสาทรจีนไป ลมจะเปลี่ยนชุด ชุดลมว่าวจะเริ่มลงแล้ว
ยังมีลมอีกชนิดหนึ่งคือลมงวงจะเกิดหน้าเซิงไส้แห้ง อยู่ในทะเลจะเห็นน้ำขึ้นเป็นท่อเป็นลำสูง พัดบนบกเรียก ลมบ้าหมูจะหมุนติ้ว หมูเป็ดถูกดูดลอย คนโดนล้ม หลังคาโรงเรียนวัดในกลางเคยถูกลมงวงถอดไปหมด มะขามใหญ่ๆ ต้นโพธิ์ใหญ่ๆ ลมงวง “ยกลอยไปได้หมด”
การดูพายุ เวลาพายุหนักจะมาอากาศจะอบอ้าวมาก แมลงสาบในเรือออกพลุกพล่าน ก่อนพายุลมอั้น มีเติ่งหรือคลื่นหยาบๆ เคลื่อนเป็นระลอกใหญ่ น้ำเชี่ยวและบางทีจะสังเกตลักษณะและความแรงของลมจากขี้เมฆ ถ้าลมแรงจัดเมฆจะตั้งก้อนไม่ใหญ่ มีขนาดก้อนเล็กๆ เท่ากระบุงใส่ข้าว ตั้งเร็ว ขึ้นเร็วปรูดๆ ต้องเตรียมหนีรีบกลับฝั่ง อีกแบบหนึ่งถ้าขี้เมฆตั้งเอื่อยๆ เมฆขึ้นลิ่วๆ เป็นคันกระสุน โค้งแบบรุ้งกินน้ำ แต่สีดำเป็นคัน จะทำให้เกิดพายุใหญ่รุนแรงที่สุด คนออกเรือสมัยก่อนต้องจับสังเกตให้เป็น
ลุงไหมขึ้นฝั่งมาแล้วหลายปี ภูมิปัญญาเกี่ยวกับกระแสลมของลุงยังมีอยู่มากมาย แต่ไม่มีใครสืบทอดเนื่องจากการเดินเรือปัจจุบันนี้ มีอุปกรณ์สมัยใหม่มากเกินพอใช้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกระแสลมและดวงดาว น่าเสียดายไม่น้อยที่ความรู้ทรงคุณค่านี้จะกลายเป็นเพียงแต่ ตำนาน
และเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งชาวประมงพื้นบ้านไทยได้เคยรู้จักลีลาของลม เมฆ และคลื่น อย่างกับเป็นเลือดเป็นเนื้อของตัวเอง
บันทึกจากท้องถิ่น :จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๘ (ก.ย.- ต.ค. ๒๕๔๐)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น