คลิ๊ก ศิลปในโปสเตอร์ภาพยนต์
"ใบปิด" หรือ "โปสเตอร์ภาพยนตร์" คือ รูปวาดหรือรูปพิมพ์ ที่ผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก บอกรายละเอียดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใครแสดง ใครสร้าง และใครเป็นผู้กำกับ ฉาย ที่ไหน รวมทั้งข้อความ เพื่อชักชวนให้ผู้ดูโปสเตอร์แผ่นนั้น ไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ นับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ในวันเวลาของยุคเก่าๆ
พลิกดูวิวัฒนาการของใบปิดภาพยนตร์ไทยจากหนังสือการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ ปี 2535 โดยสมชาติ บางแจ้ง จะพบว่ามีมาก่อน ปี พ.ศ.2497 หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ภาพถ่าย ที่ได้มาจากบริษัทศรีกรุงในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ศรีกรุง เรื่อง "แก่นกลาสี" ซึ่งมีฉากหนึ่งถ่ายทำ ที่โรงหนังศรีกรุงบางกะปิ จะเห็นว่า ที่รั้วของโรงหนังนั้น มีภาพโปสเตอร์เรื่อง "กลัวเมีย" ซึ่งพระเอก จำรัส สุวคนธ์ แสดงนำติดอยู่ ดังนั้น กล่าวได้ว่าโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในรูปแบบภาพวาดนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคศรีกรุง
ใบปิดหนังไทย ตำนานแห่งศิลปะ
ยุคต่อมา ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้ง ที่ 2 และระหว่างสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ตัวอย่างใบปิดจากเรื่อง "ศึกถลาง" เมื่อปี 2497 และภาพยนตร์เรื่อง "สันติ-วีณา" เมื่อปี 2498 จะเป็นรูปแบบของใบปิด ที่มีพิมพ์สกรีนธรรมดา เป็นการพิมพ์แบบสีเดียวหรือไม่เกิน 2 สี (ฟ้า-แดง) เป็นงานแบนๆ ขาดความลึก ไม่เป็นธรรมชาติ
หลังช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 เป็นยุคที่ทะนง วีรกุล สร้างชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการทำโปสเตอร์หนังไทย ที่มีลักษณะเป็นภาพวาด เช่นเดียวกับยุคศรีกรุง และเป็นผู้วางรากฐานของการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยไว้จนมีวิวัฒนาการรูปแบบเฉพาะตัวเรื่อยมาจนถึงวันนี้
ยุคทองของใบปิดหนังไทยได้เริ่มขึ้น เมื่อประมาณ ปี 2500 ผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ สมบูรณ์ นิยมศิริ ซึ่งกระเดื่องดังในชื่อของ"เปี๊ยก โปสเตอร์"
เมื่ออายุได้ราว 21 ปี เปี๊ยก ซึ่งมีพื้นฐานการวาดรูปมาจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้ทดลองเขียนภาพสีโปสเตอร์ ซึ่งแตกต่างจากภาพสีน้ำมัน ที่ ช่างเขียนคัดเอาท์ หรือป้ายโฆษณาสินค้าทั่วไป และได้นำไปเสนอ พิสิฐ ตันสัจจา แห่งโรงหนังเฉลิมไทย ปรากฏว่า พิสิฐชอบอกชอบใจในผลงาน และให้เปี๊ยกเขียนโปสเตอร์ของบริษัทเป็นประจำต่อมา ฝีมือโปสเตอร์หนังไทยเรื่องแรกๆ ของเขา เช่น เรื่อง "นกน้อย" ของดอกดิน กัญญามาลย์ เมื่อแรกๆ ทุกโปสเตอร์ ที่เปี๊ยกวาดด้วยตัวเอง เขาจะเซ็นนามใต้รูปว่า "เปี๊ยก" แต่ต่อมา เมื่อมีงานมากขึ้นเขาจึงต้องมีทีมงานมาช่วย ลายเซ็นในโปสเตอร์จะเปลี่ยนไป เป็น "เปี๊ยก โปสเตอร์" ซึ่งกลายเป็นเหมือนชื่อบริษัท และคำว่าโปสเตอร์ได้กลายเป็นนามสกุลของเปี๊ยกไปโดยปริยาย
สำนักของเปี๊ยกกลายเป็นสำนักตักศิลา ที่เด็กหนุ่มคนแล้วคนเล่าได้เดินไปหาเขา และขอฝากตัวเป็นศิษย์ ลูกศิษย์คนสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงต่อมา เช่น บรรหาร ศิตะพงศ์ เด็กหนุ่มจากสงขลา ที่ฝึกการเขียนภาพจาก โรงหนังคิงส์หาดใหญ่ แล้วเดินทางมาสมัครเป็นศิษย์ของเปี๊ยก โปสเตอร์หนังเรื่องแรกๆ ที่เป็นฝีมือของเขาเต็มใบ เช่น เรื่อง "โทน", "มนต์รักลูกทุ่ง" และ "เงิน เงิน เงิน"
ทองดี ภานุมาศ เป็นศิษย์เอกอีกคนหนึ่ง ที่มีผลงานเด่นๆ จากเรื่อง "ชู้" ต่อมาเขาลาออกจากสำนักของเปี๊ยก และรับงานอิสระ เช่น โปสเตอร์ เรื่อง "ทอง ภาค 1-ภาค 2", "คาดเชือก" และ "คนขวางโลก"
เฮียริ้ม หรือพัชร์ แซ่อึ้ง เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ยอมรับว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวการเขียนรูปโปสเตอร์ของเขามากที่สุด งานเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยชิ้นแรกของเขา ได้แก่ เรื่อง "เพชรตัดเพชร", "พ่อ ไก่แจ้" "แผลเก่า" และ "ลำพู"
หมดสิ้นยุคของเปี๊ยก โปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย ก็ได้แปรเปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีของภาพถ่าย และการพิมพ์ ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น พร้อมๆ กับภาพใบปิดแบบเก่าๆ ได้แปรเปลี่ยนกลายไปเป็นของสะสม ที่ หายาก ว่ากันว่าภาพโปสเตอร์ ที่มีรายเซ็นของเปี๊ยก ราคาแผ่นละ 400-500 บาท บางเรื่องอาจจะสูงเป็นหลายพันบาท ส่วนภาพของนักวาดโปสเตอร์คน อื่นๆ ก็จะรองๆ ลงมา สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์ นักสะสมคนหนึ่งยืนยันว่า ใบปิด บางชิ้นนักสะสมบางคนอาจจะทุ่มเงินซื้อแม้ต้องเสียเงินเป็นแสนก็ตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ เปี๊ยกได้มีโอกาสมาวาดภาพใบปิดหนังไทยอีกครั้งให้กับเรื่อง "ฟ้าทะลายโจร" เปี๊ยกได้กล่าวไว้ในงานนิทรรศการใบปิดหนังไทย ที่กรมศิลปากรจัดขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2543 ที่ผ่านมาว่า หนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง ที่เขามีความฝัน ที่จะเห็นโปสเตอร์หนังในเอกลักษณ์หนังไทยยุคแรกๆ ก็คือ "ศรีสุริโยทัย" ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ทุ่มงบสร้าง หลายร้อยล้านบาท
วันนี้ ปรมาจารย์ของใบปิดหนังไทย เปี๊ยก โปสเตอร์คงปิดฉากตัวเองในการวาดภาพโปสเตอร์ หนังไปแล้ว และกำลังมีความสุขอย่างมากกับการสอนวาดภาพให้กับเด็กๆ ณ บ้านของเขา ที่อำเภอปากช่อง
ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยกำลังพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันจบสิ้น แต่ดูเหมือนว่าภาพโปสเตอร์หนังไทยจะคงเหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ผู้จัดการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น