ผู้ป่วยเป็นโรคท้องมานในอดีตของไทย
ท้องมาน...คืออะไร?
ท้องมาน (ascites) หมายถึง ภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก ลักษณะเป็นสารน้ำใสสีหลืองอ่อนหรือไม่มีสี สารน้ำดังกล่าวอยู่ภายในเยื่อบุช่องท้อง โดยปกติช่องท้องจะอยู่ใต้ช่องอก แยกจากกันด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม สารน้ำในช่องท้องมีแหล่งที่มาได้ต่างๆ กัน โดยเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น โรคตับ มะเร็ง หัวใจล้มเหลว และโรคไต โดยทั่วไปแบ่งภาวะท้องมานออกเป็นสองชนิด โดยแบ่งตามปริมาณของโปรตีนที่พบในสารน้ำ วิธีนี้ใช้กันมานานแล้ว ต่อมามีการแบ่งระบบใหม่ที่มีประโยชน์มากกว่า เรียกว่า Serum Ascites Albumin Gradient (SAAG) คำนวณ จากอัตราส่วนของโปรตีนชนิดแอลบูมินในสารน้ำช่องท้องเทียบกับระดับของแอลบูมินในเลือด
1. น้ำในช่องท้องที่เกิดจากโรคตับแข็งหรือภาวะหัวใจวายจะมีค่าอัตราส่วน ที่มากกว่า 1.1
2. ภาวะท้องมานที่เกิดจากมะเร็งหรือโรคตับอ่อนอักเสบจะมีค่าอัตราส่วน น้อยกว่า 1.1
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องท้องมานส่วนใหญ่เป็นโรคตับแข็ง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยโรคสุราเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็ง และโรคไต
อาการท้องมานที่เกิดจากโรคของเยื่อบุช่องท้อง เช่น การติดเชื้อวัณโรค เยื่อบุช่องท้องอักเสบจากโรคลูปุส ภาวะเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง
นอกจากนี้ กรณีของมะเร็งแพร่กระจายมาที่ช่องท้อง อาการท้องมานยังเกิดจากมีเซลล์มะเร็งมาอุดตันที่ท่อน้ำเหลือง เซลล์มะเร็งสร้างสารซัยโตไคน์หลายชนิดที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุช่องท้อง
สาเหตุ
1. โรคตับ โดยเฉพาะโรคตับแข็งจากสาเหตุใดก็ตาม พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยที่มีอาการท้องมานทั้งหมด การเกิดน้ำในช่องท้องเป็นผลจากความดันเลือดในตับเพิ่มสูงขึ้นมาก ร่วมกับระดับแอลบูมินในเลือดลดต่ำลง แอลบูมินเป็นโปรตีนในเลือดทำหน้าที่สำคัญในการดึงสารน้ำไว้ในกระแสเลือด เมื่อระดับลดต่ำลง ความดันที่แตกต่างกันระหว่างภายในกับภายนอกหลอดเลือดทำให้น้ำรั่วออกไปนอก หลอดเลือด โดยเข้าไปอยู่ในช่องท้องเกิดเป็นภาวะท้องมานขึ้น
2. เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้เกิดการคั่งของสารน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
3. โรคไต และภาวะขาดแอลบูมิน (โปรตีนไข่ขาว)
4. ภาวะช่องท้องอักเสบจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การติดเชื้อ ภูมิแพ้
5. มะเร็งในช่องท้อง เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งที่กระจายมาที่ช่องท้อง เป็นต้น
6. สาเหตุจากโรคตับอ่อนอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดจากพิษสุราเรื้อรัง บางรายอาจเกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน หรืออุบัติเหตุที่ตับอ่อน
7. เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดใหญ่ของตับ ซึ่งพบได้น้อยมาก
หนูน้อยชาวจีนวัย 4 ขวบ ป่วยเป็นโรคท้องมาน
อาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการท้องมานจะมีอาการแน่นท้อง ท้องโตขึ้น ร่วมกับอาการอื่นๆของโรคที่เป็นสาเหตุ ถ้าน้ำขังอยู่ในท้องมากๆ อาจจะทำให้หนังท้องปริแล้วมีน้ำซึมออกมาได้ แต่ไม่ได้เป็นเหตุให้ถึงกับเสียชีวิต ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่น สาเหตุเดิมที่ทำให้เกิดท้องมาน ภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ หัวใจล้มเหลว ไตวาย เป็นต้น ในกรณีที่น้ำในท้องมีน้อยกว่า 100 – 400 มิลลิลิตร ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อปริมาณเพิ่มมากขึ้น ท้องจะเริ่มโต และเริ่มสังเกตเห็นได้ชัด บางรายพบว่ามีสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยหายใจติดขัด
การรักษา
1. การรักษาอาการท้องมานขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ
2. ถ้าเกิดจากโรคมะเร็งแพร่กระจาย แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดและเคมีบำบัด
3. น้ำในช่องท้องที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ก็ให้ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว รวมทั้งจำกัดอาหารเค็มที่มีส่วนประกอบของโซเดียม
4. สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการท้องมานคือโรคตับแข็ง การรักษาเน้นที่จำกัดปริมาณโซเดียมในอาหารให้น้อยกว่าวันละ 2 กรัม ร่วมกับการใช้ยาขับปัสสาวะ
5. ยาขับปัสสาวะนิยมใช้ spironolactone (Aldactone) ร่วมกับ furosemide (Lasix) พิจารณาปรับขนาดของยาตามความเหมาะสมและการตอบสนอง ควรให้ยาในตอนเช้าเพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะตอนกลางคืนมากเกินไป
6. ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องเจาะระบายน้ำในช่องท้อง สามารถระบายน้ำได้ถึง 5 ลิตรต่อครั้ง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคมะเร็งแพร่กระจายที่มีน้ำในช่องท้องมักต้องเจาะระบายออก เนื่องจากการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก
7. การผ่าตัดทำทางระบายน้ำในช่องท้องมักกระทำในรายที่เป็นมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ ช่วยลดปริมาณน้ำในช่องท้องได้มาก และช่วยลดขนาดยาขับปัสสาวะที่ใช้ อย่างไรก็ตามต้องระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการทางสมองที่เกิดจากโรคตับ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
8. การผ่าตัดเปลี่ยนตับสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งขั้นรุนแรง และมีอาการตับวาย
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
--------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น