ในวัฒนธรรมของศรีลังกาที่รับมาจากอินเดีย ช้างถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญทั้งในสงคราม เศรษฐกิจ และศาสนา
เป็นเวลานับพันปี ที่ชาวศรีลังกาจับช้างป่ามาฝึกใช้งานต่างๆ รวมทั้งในสงคราม เช่น ในพงศาวดารศรีลังกา ที่เล่าเรื่องของ เจ้าชายชาวสิงหล นามว่า ทุฏฐะคามินิ ทำการรบบนหลังช้าง หรือ ยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระเจ้าเอฬาระ กษัตริย์แห่งชาวทมิฬ นอกจากนี้ ในงานเฉลิมฉลองทางพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาของชาวสิงหล ก็ได้ใช้ช้างเข้าร่วมงาน นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น ขบวนแห่พระเขี้ยวแก้วที่กรุงแคนดี ก็ได้มีการประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วบนหลังช้างที่ถูกตบแต่งอย่างงดงาม โดยมีช้างร่วมขบวนนับร้อยเชือก
ช้างศรีลังกาเป็นหนึ่งในสี่สายพันธุ์ย่อยของช้างเอเชีย ซึ่งอีกสามสามพันธุ์คือ ช้างอินเดีย ช้างสุมาตรา และช้างบอร์เนียว โดยช้างศรีลังกาเป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด มีส่วนสูงสิบฟุต และหนักเกือบหกตัน พื้นหนังสีเข้มกว่าช้างอื่นๆ
กษัตริย์ศรีลังกา ถือว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองและมีการคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะที่ประชาชนก็ให้ความนับถือเป็นสัตว์สำคัญตามความเชื่อ ทำให้ศรีลังกาเป็นเหมือนสวรรค์ของเหล่าช้างป่า โดยมีบันทึกว่า เมื่อชาวตะวันตกเข้ามาศรีลังกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 มีช้างป่าเกือบสามหมื่นตัวกระจายอยู่ทั่วเกาะ
ทว่า หายนะของช้างป่าศรีลังกา ก็มาถึง เมื่ออังกฤษได้เข้ายึดครองศรีลังกาเป็นอาณานิคมและนำพืชชนิดหนึ่งเข้ามา นั่นคือ ชา
ชา มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน โดยเมื่อเกือบห้าพันปีก่อน ชาวจีนได้นำใบชามาตากแห้งและต้มกับน้ำร้อน เป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอมหวน ที่อยู่คู่วัฒนธรรมจีนมานับพันปี กระทั่งเมื่อชาวตะวันตกได้ติดต่อค้าขายกับจีน ใบชาก็แพร่เข้าสู่ดินแดนตะวันตกและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกับชาวอังกฤษ ทั้งในเกาะบริเตนและในอาณานิคมบนทวีปอเมริกาเหนือ
ความต้องการใบชาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อังกฤษมองหาแหล่งผลิตชา และพื้นที่ที่เหมาะที่สุด ก็คือ ดินแดนศรีลังกา หรือที่ชาวอังกฤษ เรียกว่า ซีลอน (Ceylon)
ศรีลังกามีที่ราบสูงและพื้นที่เชิงเขาอยู่มาก มีน้ำและดินที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งภูมิอากาศก็เหมาะสมกับการเติบโตของใบชา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเล็กๆ สำหรับการทำไร่ชาแสนสวยในซีลอน ปัญหาเล็กๆ ที่เรียกว่า ช้าง
ในช่วงที่อังกฤษยึดครองศรีลังกา ที่นี่อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เป็นหนึ่งในสวรรค์ของนักกีฬาล่าสัตว์ชาวยุโรปที่ต้องการความแปลกใหม่ สัตว์ป่าของศรีลังกาที่นายพรานนิยมล่า ประกอบด้วย กวาง เสือดาว (บนเกาะนี้ไม่เสือโคร่ง) ควายป่า จระเข้ ทั้งนี้ บางครั้งก็มีเรื่องเล่าถึงการล่าของชาวผิวขาวที่นี่ ด้วยวิธีแปลกๆ เช่น การล่าจระเข้โดยใช้เด็กเป็นเหยื่อล่อ ซึ่งในหนังสือยุคนั้น เขียนว่า พรานจะเช่าเด็กหญิงอายุไม่เกินสามขวบจากพ่อแม่ชาวพื้นเมือง และนำเด็กมาผูกกับหลักริมน้ำ เสียงร้องและการเคลื่อนไหวของเด็กจะจูงใจให้จระเข้ขึ้นจากน้ำและคลานเข้ามา เป็นโอกาสให้นักล่าได้ยิงมัน ซึ่งหากเป็นจริง ก็นับว่าเป็นวิธีที่อำมหิตมาก
อย่างไรก็ตาม แม้กีฬาล่าสัตว์ในศรีลังกาจะเป็นที่นิยม แต่ช้างป่าก็ยังไม่ใช่เป้าหมาย เนื่องจากช้างที่นี่ ส่วนใหญ่มีงาสั้นและเล็ก ไม่เหมาะที่เป็นรางวัลสำหรับการล่า (Trophy) จนเมื่อมีการบุกเบิกไร่ชา กระบอกปืนของนายพรานก็หันไปหาช้าง
การที่ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ซึ่งกินพืชจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน พวกมันจึงกลายเป็นศัตรูของชาวไร่ชาวนาไปโดยปริยาย ทว่าในยุคที่ประชากรยังเบาบางและการทำกสิกรรมยังไม่บุกรุกพื้นที่ป่า ช้างป่ากับมนุษย์จึงยังอยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนตลาดขนาดยักษ์มาถึง ความขัดแย้งก็ปะทุขึ้น
ในปี ค.ศ.1830 ยังคงมีช้างป่าอยู่ทั่วไปในศรีลังกา จนเมื่อชาวอังกฤษนำกาแฟเข้ามาปลูก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นปลูกชาในเวลาต่อมา ทำให้เกิดความต้องการใช้พื้นที่ราบสูงและเชิงเขาสำหรับทำไร่ชา รัฐบาลอาณานิคมจึงออกคำสั่งให้กวาดล้างช้างป่าในบริเวณดังกล่าว โดยในปี ค.ศ.1840 ทางการอังกฤษได้ตั้งรางวัลสำหรับการสังหารช้างป่า 5,500 ตัว พร้อมประกาศเชิญชวนพรานผิวขาวจากยุโรปให้มาล่าช้างที่ศรีลังกา
มีบันทึกว่า ครั้งหนึ่ง คณะพรานชาวยุโรปสี่คนได้ฆ่าช้าง 106ตัว ในสามวัน ขณะที่ แซมมวล เบเกอร์ พรานชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นนักสำรวจเลื่องชื่อ ผู้ไปยังต้นแม่น้ำไนล์ใจกลางทวีปแอฟริกา ได้บันทึกไว้ว่า ในเวลาเพียงสามวัน เขาได้สังหารช้างป่าไป 104 ตัว และตลอดสามปีที่อยู่ในศรีลังกา เบเกอร์ได้สังหารช้างไปมากกว่า 1,500 ตัว ขณะที่มีพรานผิวขาวอีกหลายคนที่ทำสถิติสังหารช้างป่าไม่น้อยกว่าคนละสี่ร้อยตัว ระหว่าง ค.ศ.1840 – ค.ศ.1850 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1850 ช้างป่าในศรีลังกาก็เหลืออยู่เพียงหมื่นกว่าตัว โดยมีช้างถูกสังหารไปมากกว่าหกสิบเปอร์เซนต์ในเวลาเพียงสิบปี และช้างก็ถูกกวาดล้างไปจากที่ราบสูงและเชิงเขาส่วนใหญ่ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นได้ถูกแปรสภาพเป็นไร่ชาขนาดมหึมา
ปลายศตวรรษที่19 การล่าช้างในศรีลังกา กลายเป็นที่นิยมของเหล่าพรานบรรดาศักดิ์จากยุโรป ซึ่งมีทั้ง นายทหาร ขุนนาง จนถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ขณะเดียวกัน การขยายพื้นที่ปลูกชาและกสิกรรมอื่นๆ ก็ทำลายที่อยู่ของช้างลงไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงทศวรรษที่ 1970 ช้างในศรีลังกา ก็เหลือไม่ถึงสองพันตัว พร้อมกับพื้นที่ป่าจำนวนมากที่หายไป
ปัจจุบัน ช้างศรีลังกาได้รับการคุ้มครองในอุทยานแห่งชาติและมีการตั้งศูนย์อนุรักษ์ ทำให้ช้างป่ามีมากขึ้น เป็นราวหกพันกว่าตัว ทว่าประชากรของศรีลังกา ที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ความขัดแย้งระหว่างช้างและมนุษย์ไม่อาจเลี่ยงได้ ซึ่งทุกวันนี้ ในแต่ละปี มีช้างถูกสังหารราวร้อยกว่าตัว ขณะที่มีมนุษย์เสียชีวิตจากการถูกช้างทำร้ายประมาณห้าสิบราย สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้อนาคตของช้างศรีลังกายังคงไม่แน่นอน
มนุษย์เอย...เราต่างเป็นเพื่อนร่วมโลก เราต่างคนต่างอยู่ไม่เอาเปรียบกันจะดีไหม ? (ความเห็นส่วนตัวของเจ้าของบล็อก)
คัดลอกเนื้อหาจากเพจ บันทึกธรรมชาติ Nature Diary
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น