ละอ่อน... เป็นภาษาคำเมืองมีความหมายถึง ‘เด็ก’ นอกจากนี้คำว่า ‘หล้า’ หรือแม้แต่ ‘หมาหน้อย’ ยังเป็นคำพูดติดปากของคนล้านนาแสดงถึงความเอ็นดูต่อเด็กน้อยเช่นกัน ดังวรรณกรรมมุขปาฐะล้านนาที่ว่า ‘ละอ่อนบ่ดีเอาไปนา หมาบ่ดีเอาไปต้ง’ (เวลาไปทุ่งนาไม่ควรพาเด็กหรือสุนัขไปด้วย เพราะเด็กและสุนัขมักจะซุกซนไม่อยู่นิ่ง อาจจะเที่ยวไปเหยียบย่ำหรือกัดกินพืชผลเสียหายได้ง่าย)
ชาวล้านนาในอดีตมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายผูกโยงกับธรรมชาติและความเชื่อ พ่อแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ชาวล้านนามักมีเรื่องเล่าเป็นกุศโลบายไว้สอนและห้ามปรามเด็กน้อย ‘ละอ่อนต่อนแต่น’ เช่นนิทานเรื่อง 'ผีตาวอด' หรือบางท้องถิ่นเรียก 'ผีบ้าตาวอด' เล่าสืบต่อกันมาว่าผีตาวอดชอบลักพาเอาเด็กที่มักเล่นอยู่ตามลำพังลับตาคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ลูกหลานไปเล่นไกลตา ดังนั้นผู้ใหญ่จะคอยดูแลไม่ให้เด็กเล่นกันจนมืดค่ำ โดยเฉพาะการเล่นที่เสี่ยง อย่างการเล่นซ่อนหา และจะเตือนเด็กให้ระวัง ‘ผีจะเอาซ่อน’ พอตกค่ำมักมีเพลงกล่อมเด็ก เป็นเพลงหรือบทที่ใช้ในการร้องขับกล่อมเด็กเพื่อให้เด็กหลับง่ายและหลับอย่างเป็นสุข เพลงที่เป็นที่รู้จักกันมากจะมีเพลงอื่อ จา จา, เพลงอี่เอ้ยเหย, เพลงสิกจุ้งจา, เพลงสิกก้องก๋อ เป็นต้น
การละเล่นของเด็กล้านนา มักมีกติกาการเล่นหรือการแข่งขันง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก จุดประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อความสนุกสนาน เช่น ชนกว่าง, ไก่ชนมะม่วง (เป็นการละเล่นที่เล่นได้ทุกโอกาสในฤดูที่มะม่วงเริ่มออกผล ส่วนมากจะเป็นการละเล่นของเด็กผู้ชาย, สิกจุ้งจา (โล้ชิงช้า), สิกโก๋งเก๋ง (นิยมเล่นกันในชนบท ซึ่งในสมัยก่อนถนนหนทางไม่สะดวก เมื่อเดินด้วยเท้าเปล่าจะทำให้เกิดโรคเท้าขึ้น ชาวล้านนาเรียก ‘หอกิ๋นตี๋น’ คนชนบทจึงคิดหาวิธีการเลี่ยงไม่ให้เท้าเปื้อนโคลนฝุ่นและเชื้อโรค จึงคิดทำโก๋งเก๋งขึ้นมาเพื่อให้เดินจนเกิดการละเล่นขึ้น) ฯลฯ
เครดิตจาก เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ , เพจเรื่องเล่าชาวล้านนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น