คลังบทความของบล็อก

27 ธันวาคม 2562

จำข้อยได้บ่..กองแลไง

 

จำข้อยได้บ่..กองแล นายพลลาวขวัญใจคนไทย! ร้อยเอกอายุ ๒๗ ยึดอำนาจได้ แต่ตั้งรัฐบาลไม่เป็น!!
ในกลางปี ๒๕๐๓ คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก กองแล นายทหารหนุ่มน้อยของลาว ผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจแบบฟ้าแลบได้สำเร็จ เป็นข่าวดังไปทั่วโลก หนังสือพิมพ์ไทยติดตามเสนอข่าวของเขาอย่างใกล้ชิด พาดหัวหน้าหนึ่งเป็นประจำ คนอ่านก็ติดตามเชียร์กันตั้งแต่ในเมืองจนถึงสภากาแฟในชนบท คราวใดที่กองแลข้ามมาปรากฏตัวในเมืองไทย จะมีคนติดตามดูเขายังกับดารายอดนิยม

ทั้งนี้ก็เพราะในขณะที่การเมืองของลาวกำลังสับสน มหาอำนาจทั้งอเมริกาและรัสเซียต่างช่วงชิงเป็นฝ่ายมีอิทธิพลในลาว ซีไอเอ.และเคจีบี.ที่เกลื่อนอยู่ในลาวเดินหมากส่งคนในสายของตัวเข้าคุมอำนาจทางการเมือง แต่ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายฝ่ายขวากำลังช่วงชิงอำนาจกัน กลางดึกของคืนหนึ่ง นายทหารหนุ่มวัยเพิ่ง ๒๗ มียศแค่ร้อยเอก ก็นำกองพันราบอากาศหรือหน่วยพลร่มของเขาเข้ายึดเวียงจันทน์ไว้ได้ในภายไม่กี่ชั่วโมง ตั้งฝ่ายอเมริกาและรัสเซียต่างตะลึงงันที่ไม่ได้ระแคะระคายเรื่องนี้มาก่อน สืบกันให้วุ่นว่าเขาเป็นคนของฝ่ายใด ต่อมาไม่นานก็ได้ความชัด เมื่อกองแลลุยรบแหลกทั้งฝ่ายอเมริกันและคอมมิวนิสต์

วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๓
เช้าวันนั้น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาว ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี เจ้าสมสนิท นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งรับตำแหน่งมายังไม่ครบ ๓ เดือน เป็นประธานในที่ประชุม พลจัตวาภูมี หน่อสวรรค์ รัฐมนตรีป้องกันประเทศก็เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีพร้อมหน้า เรื่องสุดท้ายที่นำมาพูดกันในวันนั้นก็คือ หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๐๒ โดยตกลงกันว่าคณะรัฐมนตรีจะเดินทางไปหลวงพระบางในบ่ายวันนั้น เพื่อปรึกษาหารือกับสำนัก
พระราชวังให้เรียบร้อย
ตอนเที่ยงก่อนขึ้นเครื่องบิน นายพลภูมี หน่อสวรรค์ได้เรียกร้อยเอกกองแล ผู้บังคับการกองพันทหารราบอากาศที่ ๒ เข้าร่วมรับประทานอาหารในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาที่สนิทสนมรักใคร่ไว้วางใจ พร้อมทั้งกำชับให้ทำหน้าที่กวดขันดูแลความสงบในขณะที่คณะรัฐบาลไม่อยู่ในเวียงจันทน์

ก่อนจะก้าวขึ้นเครื่องบินในตอนบ่าย นายพลภูมียังได้สัมผัสมือกับร้อยเอกกองแลซึ่งตามไปส่งถึงเครื่องบินที่สนามบินวัดไต พร้อมกับสั่งด้วยเสียงหนักแน่นว่า

“อยู่ทางนี้ ดูแลบ้านเมืองให้ดีเด้อ”
ร้อยเอกกองแลทำความเคารพพร้อมกับตะเบ็งเสียงขานรับดังชัดว่า

“โดย...ขะน้อย” (ขอรับ...กระผม)

ก่อนจะถึงเที่ยงคืน ร้อยโทเดือน รองผู้บังคับการกองพันราบอากาศที่ ๒ พร้อมด้วยทหารของกองพัน ได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงเวียงจันทน์อย่างเงียบๆ เข้าประกบตัวร้อยเอกศิริวรรณ ผู้บังคับการกองพันปีนใหญ่ และร้อยเอกคำล้อม ผู้บังคับการกองพันยานเกราะ ซึ่งเป็นกำลังรบที่สำคัญในนครเวียงจันทน์ แจ้งให้ทราบว่า บัดนี้กองพันราบอากาศที่ ๒ ได้เข้ายึดนครเวียงจันทน์ไว้แล้ว จึงขอความร่วมมือตามที่ที่เคยคุยกันไว้แล้ว

ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะกองกำลังทั้งสองนี้ได้รับการติดต่อทาบทามกันมาก่อนแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท จึงให้ร่วมเคลื่อนกำลังเข้ายึดนครเวียงจันทน์ด้วยกัน

คืนนั้น ทหารที่มีผ้าพันคอสีแดงกระจายไปทั่วเวียงจันทน์ ถนนทุกสายถูกปิดกั้นด้วยด่านคณะรัฐประหาร บ้านพักของพลตรีสุนทร ปฐมวงศ์ นายทหารลาวคนแรกที่ได้รับยศสูงถึงขั้นนายพล และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถูกบุกด้วยกองกำลังผ้าพันคอแดง ทหารรักษาการณ์ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยสาดกระสุดเข้าใส่ผู้บุกรุก ทำให้ทหารผ้าพันคอแดงตายไป ๓ คน และฝ่ายผู้รักษาการณ์ถูกตอบโต้ตายไป ๖ คน ในที่สุดก็เข้าคุมตัวผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ นำไปคุมตัวไว้ที่กองบัญชาการรัฐประหาร เช่นเดียวกับบุคคลสำคัญอีกหลายคน
พอรุ่งเช้า นครเวียงจันทน์ก็ตกอยู่ในความควบคุมของร้อยเอกวัย ๒๗ ปีอย่างเด็ดขาด ข่าวนี้ถูกเผยแพร่กระหึ่มไปทั่วโลก สหรัฐอเมริกา พี่เบิ้มค่ายโลกเสรี และสหภาพโซเวียต หัวเรือใหญ่ของค่ายคอมมิวนิสต์ ต่างตะลึงงัน เพราะลาวเป็นประเทศกันชนระหว่างโลก ๒ ค่าย ข่าวกรองของทั้งสองฝ่ายวิ่งกันพล่าน มุ่งไปที่อยากรู้ว่าร้อยเอกผู้นี้เป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน และมีใครหนุนการทำรัฐประหารครั้งนี้

ร้อยเอกกองแล วีระสาน เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๗๖ ในครอบครัวของชาวขมุ ที่หมู่บ้านพะลาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ อยู่ในเขตเมืองดงเห็น ห่างจากเมืองสุวรรณเขตซึ่งอยู่ข้ามจังหวัดมุกดาหาร ไปทางตะวันออกราว ๑๐๐ กม. เมื่อจบหลักสูตรมัธยมตามหลักสูตรการศึกษาในระบบอาณานิตมของฝรั่งเศสแล้ว ได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เมืองดงเห็น ในวัยเด็กกองแลเป็นคนเงียบขรึม ค่อนข้างขี้แย แต่พอจบจากโรงเรียนนายร้อยแล้วกลายเป็นนายทหารหนุ่มที่คึกคะนองห้าวหาญ จึงได้รับคัดเลือกไปเรียนวิชาพลร่มที่ฟิลิปปินส์ เมื่อกลับมาก็ไต่เต้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว

กองแลมีกำลังพลในกองพันราบอากาศที่ ๒ อยู่ ๘๐๐ คน ซึ่งเหนียวแน่นมั่นคงในความสามัคคี เชื่อฟังผู้บังคับกองพัน กองพันราบอากาศที่ ๒ ถูกย้ายไปประจันหน้ากับทหารปะเทดลาวในที่ต่างๆตามสถานการณ์ ครั้งสุดท้ายย้ายมาอยู่ที่ กม.๑๘ นอกกรุงเวียงจันทน์ เพื่อเป็นกองกำลังหลักในการป้องกันนครหลวง

หลังจากเจ้าสมสนิทพร้อมกับคณะรัฐมนตรีขึ้นเครื่องบินไปหลวงพระบางเมื่อตอนบ่ายแล้ว ในตอนค่ำกองแลก็เรียกประชุมนายทหารของกองพันราบอากาศที่ ๒ รวมทั้ง ร้อยโทเดือน ขุนพลคู่ใจ ด้วยเรื่องความลับสุดยอด เพื่อลงมือยึดอำนาจตามที่วางแผนกันมาเงียบๆแล้ว

แถลงการณ์ของร้อยเอกกองแล หัวหน้าคณะรัฐประหาร นอกจากจะประกาศอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะปราบคอรัปชั่นอันเป็นมะเร็งร้ายของชาติให้หมดสิ้นไปแล้ว จะรวมลาวสองฝ่ายให้เป็นหนึ่งเดียวโดยเร็ว ทั้งยังประกาศกร้าวที่จะขับไล่ทหารต่างชาติออกจากลาวให้หมด ทำให้ฝ่ายอเมริกันซึ่งส่ง ซีไอเอ.เข้าไปตั้งกองทัพลับอยู่ในลาวขณะนั้น ชักสะดุดหู

ประชาชนลาวที่เบื่อหน่ายกับแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในประเทศ และไม่พอใจกับการคอรับชั่นคดโกงของนักการเมือง ต่างก็โห่ร้องสนับสนุนกองแลกันกึกก้องทั่วทุกทิศ แม้แต่คนไทยที่ถือว่าลาวคือบ้านพี่เมืองน้องและเป็นห่วงเป็นใยกับการเมืองในลาวมาตลอด ก็ส่งเสียงเชียร์กองแลด้วย น.ส.พ.ในเมืองไทยเสนอข่าวเรื่องนี้เสมือนเกิดขึ้นในประเทศไทย และติดตามการเคลื่อนไหวของกองแลทุกระยะตามกระแสความสนใจของประชาชน

กองแลซึ่งอายุเพียง ๒๗ ปี ประสบการณ์ชีวิตก็มีแต่เรื่องรบอย่างเดียว ไม่เคยรู้เรื่องการเมืองเลย พอยึดอำนาจและบีบบังคับให้เจ้าสมสนิทนายกรัฐมนตรีลาออกไปแล้ว เมื่อถูกถามว่าจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี กองแลก็งง ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ในที่สุดก็ไปเชิญ เจ้าสุวรรณภูมา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาแห่งชาติ เพราะการกระทำรัฐประหารของกองแลไม่ได้ล้มล้างรัฐสภาหรือรัฐธรรมนูญ ขับไล่แต่รัฐบาลออกไปเท่านั้น
เพื่อตอบแทนความดีความชอบที่ยึดอำนาจมาประเคนให้ คณะรัฐมนตรีของเจ้าสุวรรณภูมา จึงมีมติเลื่อยศร้อยเอกกองแลขึ้นเป็น พลตรี ทันที และร้อยโทเดือน ขุนพลคู่ใจได้เป็น พันเอก

การยึดอำนาจของกองและและสนับสนุนให้เจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศจะรวมลาวสองฝ่ายเข้าด้วยกัน โดย เจ้าสุภานุวงศ์ หัวหน้าขบวนการปะเทดลาว ก็เป็นน้องชายต่างมารดาของเจ้าสุวรรณภูมา แต่กลับทำให้ลาวแตกเป็น ๓ ก๊ก คือก๊กของเจ้าสุวรรณภูมา ก๊กของเจ้าสุภานุวงศ์แล้ว นายพลภูมี หน่อสวรรค์ อดีตรัฐมนตรีป้องกันประเทศ ก็ไม่ยอมจำนนให้อดีตทหารใต้บังคับบัญชา แอบบินจากหลวงพระบางข้ามเวียงจันทน์ไปสุวรรณเขต เขตอิทธิพลของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ และหนุนเจ้าบุญอุ้มขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลซ้อนขึ้นมาเพื่อปราบคณะรัฐประหารและรัฐบาลของเจ้าสุวรรณภูมา

ฝ่ายขบวนการประเทดลาวก็ประกาศสนับสนุนรัฐบาลของเจ้าสุวรรณภูมา และไม่รับรู้การตั้งรัฐบาลซ้อนของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์

ความยุ่งเหยิงในลาวทวีคูณมากขึ้น ฝ่ายเจ้าบุญอุ้มซึ่งมีนายพลภูมีเป็นขุนพล ได้ส่งกองทัพเข้าชิงนครเวียงจันทน์ จนทำให้การคมนาคมรอบเวียงจันทน์หลายแห่งถูกตัดขาด โดยเฉพาะเส้นทางที่ติดต่อกับพรมแดนไทย ทำให้คนเวียงจันทน์ขาดเครื่องอุปโภคบริโภค เกิดความอดอยากจนต้องลักลอบข้ามมาฝั่งไทย ทำให้เวียงจันทน์เกือบเป็นเมืองร้าง แม้แต่เจ้าสุวรรณภูมาก็ต้องบินไปพำนักในกรุงพนมเปญ แตก็ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้

ที่นครเวียงจันทน์ มีเครื่องบินจากสหภาพโซเวียตลำเลียงเครื่องอุปโภคบริโภคมาบันเทาวันละหลายเที่ยว ส่วนที่เมืองสุวรรรฌเขตที่ตั้งของรัฐบาลเจ้าบุญอุ้ม ฝ่ายอเมริกันก็สนับสนุนเต็มที่

การรบช่วงชิงเวียงจันทน์ดุเดือดขึ้นทุกที ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม หลังจากยึดครองมาได้ ๔ เดือนกับ ๑ สัปดาห์ กองแลก็จำต้องถอยออกจากเวียงจันทน์ ร่นขึ้นไปทางเหนือตามเส้นทางไปสู่หลวงพระบาง นายพลภูมีไม่ได้ติดตาม เพราะคิดว่าทหารที่หลวงพระบางจะบดขยี้กองแลเอง

เหนือเวียงจันทน์ไปประมาณ ๑๖๐ กม.ที่เรียกกันว่าศาลาภูคูณ มีทาง ๓ แพร่ง แยกหนึ่งไปหลวงพระบาง อีกแยกไปทางตะวันออกสู่ทุ่งไหหิน แทนที่กองแลจะเคลื่อนพลไปหลวงพระบางตามที่นายพลภูมีคิด กองแลกลับเลี้ยวเข้าทุ่งไหหิน เขตปกครองของ ซีไอเอ. และยึดเมืองสวยได้ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม จากนั้นก็เข้าโจมตีสนามบินพงสวรรค์ ฝ่ายขบวนการประเทดลาวก็ช่วยตีขนาบบริเวณรอบทุ่งไหหิน ฝ่ายขวาแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทหารทิ้งปืนหนี ขณะที่ปืนครกของกองแลถล่มถึงปลายรันเวย์ ก็พอดีกับเครื่องบิน ซี-๔๗ ลำสุดท้ายของแอร์อเมริกาทะยานขึ้นสู่ฟ้า เที่ยวบินนี้มี ซีไอเอ.ที่ปรึกษาทางทหารของฝ่ายขวาไปด้วยหลายคน จากนั้นกองแลก็นำทหารเข้าร่วมกับขบวนการปะเทดลาวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การรบช่วงชิงทุ่งไหหินรุนแรงขึ้นอีก ฝ่ายนายพลภูมีโหมกำลังเข้าตีคืน แต่ถูกกองกำลังของขบวนการปะเทดลาวผนึกกำลังกับกองแลตอบโต้จนต้องถอยร่น ขบวนการปะเทดลาวยึดต่อไปถึงเชียงขวาง

สถานการณ์ของโลกที่เกิดจากการเผชิญหน้าของโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ตึงเครียดยิ่งขึ้น จึงมีการเรียกร้องให้เปิดการเจรจา ๓ ฝ่ายในลาวเพื่อยุติสงครามกลางเมือง เจ้าสุวรรณภูมาจึงขอกองแลให้แยกตัวออกมาจากขบวนการปะเทดลาว เพื่อสนับสนุนตนซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเป็นกลาง และเพื่อคานอำนาจฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาไว้ ซึ่งกองแลก็บยอม

การแยกตัวออกจากขบวนการปะเทดลาวนี้ ทำให้นายพลกองแลเกิดความขัดใจกับพันเอกเดือนขุนพลคู่ใจ ที่ไม่ต้องการกลับไปสนับสนุนเจ้าสุวรรณภูมาอีก ในที่สุดกองแลก็แยกตัวออกมาสนับสนุนเจ้าสุวรรณภูมาอย่างโดดเดี่ยว

การเจรจาของ ๓ ฝ่ายยืดเยื้อ ขณะที่การรบก็ดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดควบคู่กัน เพื่อชิงความได้เปรียบในการเจรจา มีหลายครั้งที่กองกำลังของกองแลฝ่ายเป็นกลาง ถูกทั้งกองกำลังของฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายบุกถล่มพร้อมกัน ทำให้กองทัพของเขาบอบช้ำพ่ายยับเยิน เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายใดเลย

เหตุการณ์ที่จบบทบาทนายพลแห่งกองทัพลาวของกองแล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๐๙ ในเวลา ๗.๐๐ น.ของวันนั้น นายพลท้าวมา ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ซึ่งกำลังอึดอัดใจที่ถูกบีบบังคับจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้เอาเครื่องบินรบไปขนฝิ่น ได้ตัดสินใจนำเครื่องบินต่อสู้ ที-๒๘ ฝูงหนึ่งออกจากสุวรรณเขต พอ ๘.๒๐ น.ก็มาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ หย่อนระเบิดใส่กองบัญชการเสนาธิการทหาร ซึ่งเป็นที่ทำงานของ นายพลกุประสิทธิ์ อภัย จากนั้นก็ระดมยิงกองบัญชาการอย่างหนัก คลังสรรพาวุธที่สนามบินวัดไตพังพินาศ ฝูงบินยังแปรขบวนไปถล่มบ้านพักของนายพลกุประสิทธิ์ที่ค่ายจินายโม้อีก แต่นายพลกุประสิทธิ์แคล้วคลาด มีคนตายไป ๓๐ คนและบาดเจ็บอีกหลายสิบ

ท้าวมาหวังว่าเมื่อเขาถล่มนายพลกุประสิทธิ์ผู้
คุมกำลังในเวียงจันทน์ตายแล้ว นายพลกองแลสหายรักจะถือโอกาสนำทหารฝ่ายเป็นกลางเข้ายึด แต่ท้าวมาไม่รู้ว่าตอนนั้นกองแลกำลังมีปัญหากับนายพลกุประสิทธิ์ และเข้ามาพบเจ้าหน้าที่ ซีไอเอ.ที่กรุงเทพฯก่อนหน้าที่ท้าวมาจะถล่มถึง ๕ วัน หลายฝ่ายก็อ่านเกมนี้ออก ฉะนั้นเมื่อท้าวมาถล่มเวียงจันทน์ ทางการไทยก็คุมตัวกองแลไว้ทันที ทั้งนายพลกุประสิทธิ์ยังตั้งแถวทหารไว้ชายฝั่งโขง หากกองแลข้ามมาเมื่อไหร่ก็ให้จับทันที กองแลเลยกลับเข้าเวียงจันทน์หรือเหยียบแผ่นดินลาวไม่ได้อีกตั้งแต่วันนั้น และได้เลือกขอลี้ภัยไปฝรั่งเศส ใช้ชีวิตสงบอยู่ที่นั่น

เมื่อปี ๒๕๑๒ ก่อนที่ขบวนการปะเทดลาวจะเข้ายึดครองแผ่นดินลาว ตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คนไทยคนหนึ่งซึ่งไปท่องเที่ยวนครปารีส และได้พบกับอดีตนายพลวัย ๒๗ โดยบังเอิญ เมื่อนั่งคุยกันท่านนายพลก็เล่าถึงความหลังให้ฟังว่า

“ถูกบีบบังคับให้ทำศึกทั้งสองด้านพร้อมๆกัน รบทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์ รบทั้งฝ่ายอเมริกา ในเวลาเดียวกัน ในที่สุดกองทัพก็ไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีกระสุนจะยิง เหลือแต่กระบอกปืนเป็นเศษเหล็กไม่มีค่า กองทัพก็ต้องพ่ายแพ้”

กองแลได้เสียชีวิตที่ฝรั่งเศสในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๗ ขณะอายุได้ ๘๐ ปี
   






เครดิตภาพและเนี้อหาจากเพจ เรื่องเก่าเล่าสนุก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น