ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ. 2530 คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ
ล้านนา เกิดจากพญามังรายทรงรวมสองแคว้นคือ แคว้นโยนกซึ่งอยู่ลุ่มแม่น้ำกก (อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย) กับแคว้นพิงค์ซึ่งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง (จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน) เข้าด้วยกัน แต่ในสมัยนั้นยังไม่ได้เรียกว่าล้านนา เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่คำว่าล้านนาเริ่มใช้ในสมัยพญากือนา (พ.ศ. 1898 – 1928) ซึ่งคล้องกับพระนามพญากือนา ซึ่งกือหมายถึงร้อยล้าน ดังนั้นกือนาก็แปลว่านาจำนวนร้อยล้าน
ขอบเขตของอาณาจักรล้านนา ก่อนสมัย ร.5 รัฐโบราณต่าง ๆ ไม่มีแผนที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่พอประมาณได้อย่างคราว ๆ ว่า ล้านนา คืออาณาบริเวณกลุ่มเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่ทิศใต้ติดกับ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตากในปัจจุบัน และติดกับอาณาจักรสุโขทัย ส่วนทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขง ส่วนทิศเหนือติดกับเชียงรุ่ง นอกจากนี้ยังมีเมืองชายขอบของล้านนา ได้แก่ เชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอน เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย พอถึงสมัยร.5 มีการปักปันเขตแดน เมืองชายขอบดังกล่าวจึงตกเป็นของพม่า จีน และลาว
ดินแดนในล้านนาแบ่งออกตามภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ออกเป็นสองกลุ่ม คือล้านนาตะวันตก (สายเจ้าเจ็ดตน) ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา เนื่องจากถูกผนวกเข้าด้วยกัน และมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน อีกกลุ่มหนึ่งคือล้านนาตะวันตก อันได้แก่ แพร่ และน่าน โดยทั้งสองส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางสุโขทัย และรวมเป็นส่วนหนึ่งกับล้านนาตะวันตกในสมัยพระเจ้าติโลกราช อย่างไรก็ตาม ล้านนาปัจจุบันประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน โดยมีศูนย์กลางนับจากอดีตสู่ปัจจุบันคือ เชียงใหม่ ซึ่งมีอายุกว่า 700 ปี ( พ.ศ.2539 มีอายุครบ 700 ปี) นอกจากนี้ล้านนายังประกอบไปด้วยเมืองเล็ก ๆ อีกจำนวน 57 เมือง ดังจะยกตัวอย่างเช่น ฝาง เชียงของ เชียงคำ พร้าว เชียงดาว ลี้ ลอง พาน เป็นต้น
ภูมิประเทศของล้านนา
โดยทั่วไปเป็นภูเขาในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำ และมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่านระหว่างภูเขา เช่น ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นสายน้ำต้นกำเนิดเจ้าพระยา
โดยทั่วไปเป็นภูเขาในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำ และมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่านระหว่างภูเขา เช่น ปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นสายน้ำต้นกำเนิดเจ้าพระยา
ประชากรและการตั้งถิ่นฐานของล้านนา
ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตั้งเมืองคือ มีแม่น้ำ มีที่ราบลุ่ม แลมีภูเขา แม่น้ำถือเป็นชัยมงคลที่สำคัญ เป็นแหล่งอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพบว่ามีหลายเมืองที่ตั้งชื่อตามแม่น้ำ เช่น พิงค์เชียงใหม่ เมืองแกน (แม่แตง) เมืองขาน (สันป่าตอง) เมืองน่าน ส่วนที่ราบก็เป็นแหล่งสำหรับการเพาะปลูกโดยเฉพาะข้าว ส่วนภูเขา มักมีความเชื่อว่าหากมีภูเขาอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองจะเป็นชัยมงคล โดยมีฐานะเป็นมิ่งเมือง อย่างเมืองเชียงใหม่ที่มีดอยสุเทพอยู่ด้านทิศตะวันตก เป็นต้น
ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยก่อนตั้งอาณาจักรล้านนา ( ก่อน พ.ศ. 1839)
ดินแดนล้านนา มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยกันเป็นเวลานานมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีพบร่อง รอยการมีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะได้ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย นายชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญวิชาก่อนประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นสมัยหินใหม่แต่เรื่องราวในยุคหินใหม่ยังไม่มีการศึกษากัน
ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เกิดมีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว สภาพของชุมชนแบ่งตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ออกเป็น 2 เขตคือ เขตชุมชนในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน และเขตชุมชนลุ่มแม่น้ำกก เขตชุมชนในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน (แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน) สมัยชุมชนพื้นเมือง "ลัวะ"
อิทธิพลด้านความเชื่อของพวกลัวะที่สืบมาจนปัจจุบัน นอกจากการนับถือเสาอินทขิลแล้ว ยังมีการนับถือผีปู่ย่าและย่าแสะ ซึ่งเป็นผีที่รักษาเมืองเชียงใหม่ โดยชาวบ้าน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กระทำพิธีเซ่นสังเวยผีปู่แสะซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ดอยสุเทพ และชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จะสังเวยผีย่าแสะ บริเวณดอยคำ พร้อมกับการทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ จะมีการทำเช่นสังเวยผีขุนหลวงวิลังคะอีกด้วย ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าขุนหลวงวิลังคะเป็นผีลูกหลานบริวารของปู่แสะย่าแสะ
สมัยแคว้นหริภุญชัย
แคว้นหริภุญชัยสันนิษฐานว่าเป็นของชนชาติมอญ หรือเม็ง มีศูนย์กลางที่เมืองลำพูนหรือหริภุญชัย ตามตำนานเมืองลำพูนกล่าวว่า ฤาษีว่าสุเทพและฤาษีสุกกทันต์ สร้างเมืองลำพูนเป็นรูปหอยสังข์ ใน พ.ศ. 1310 แล้วทูลเชิญพระนางจามเทวี ธิดาของกษัตริย์เมืองลพบุรีมาเสวยราชที่ลำพูน พระนางจามเทวีเสด็จมาถึงเมืองลำพูน พ.ศ. 1311-1312 ทรงตั้งเมืองต่าง ๆ ตามรายทางระหว่างลพบุรีและลำพูน พระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัย พระนางมีโอรสฝาแฝด 2 องค์คือ มหันตยศ และอนัตยศ ซึ่งเวลาต่อมาเมื่อทรงสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) ก็โปรดให้อนันตยศไปครอง ส่วนมหันตยศครองหริภุญชัยแทนพระองค์
แคว้นหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองในช่วงระยะเวลาราว 130 ปี คือระหว่าง พ.ศ. 1700-1835 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบปราศจากสงคราม มีการทำนุบำรุงพุทธศาสนาการสร้างวัดการกัลปนา ฯลฯ กษัตริย์ที่สำคัญในสมัยนี้ได้แก่ พญาทิตตราช (ประมาณ พ.ศ. 1700) ทรงเริ่มสร้างพระธาตุหริภัญชัยครั้งแรก โดยนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในปราสาท พญาสววาธิสิทธิทรงสร้างวัดมหาวัน , วัดเชตวัน ทรงอุปสมบทที่วัดเชตวัน แคว้นหริภุญชัยสลายลงเพราะถูกพญามังรายยึดครองในราว พ.ศ. 1835 โดยมีพญายีบาเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อธิบายถึงความอ่อนแอของพญาอีบาที่หลงเชื่อกลอุบายของอ้ายฟ้า ซึ่งเป็นคนที่พญามังรายใช้มาเป็นไส้ศึก อ้ายฟ้าวางแผนทำเป็นถูกพญามังรายขับไล่ แล้วไปพึ่งพญายีบา ๆ ให้อ้ายฟ้าทำหน้าที่ตัดสินความและเก็บส่วย อ้ายฟ้าได้สร้างความเดือนร้อนแก่ราษฎรหลายประการ หลักฐานที่ยังปรากฏทุกวันนี้คือ เหมืองอ้ายฟ้าซึ่งอ้ายฟ้าให้ขุดเหมืองในฤดูแล้ง มีขนาดหมื่นเจ็ดพันวา ความเดือนร้อนของราษฎรถูกอ้ายฟ้าสร้างขึ้น เพื่อให้เกลียดชังพญายีบา แผนอ้ายฟ้าทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เปิดโอกาสให้พญามังรายตีเมืองหริภุญชัยสำเร็จ
เขตชุมชนลุ่มแม่น้ำกก
ตำนานเชียงแสน ( ตำนานสิงหนติ) เป็นตำนานที่กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนไทยจากเมืองแห่งหนึ่งในยูนนาน เข้ามาสร้างเวียงโยนกในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก กลุ่มคนไทยที่เวียงโยนกได้รับความทุกข์ยากจากการรุกรานของกรอม(ขอม) ซึ่งมีอิทธิพลในแถบนี้มาก่อน พระยาพรหมเป็นผู้ที่ขับไล่กรอมออกไปได้ เวียงโยนกมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อมาอีกหลายองค์ในที่สุดตำนานเชียงแสนอธิบายถึงการสิ้นสุดของเวียงโยนกว่า เวียงนี้ล่มจมเป็นหนองน้ำเวียงโยนกที่ล่มนี้เข้าใจกันว่าอยู่ตรงบริเวณเวียงหนองในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
การที่ตำนานเชียงแสนใช้สัญลักษณ์ว่าเมืองล่มนี้ อาจหมายถึงการสิ้นสุดของวงศ์ผู้นำคนเดิม
เพราะเมื่อเวียงล่มแล้วก็จะมีคนกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบลุ่มแม่น้ำกกแทนที่ โดยสร้างเมืองเงินยางขึ้น
ลักษณะการเล่าของตำนานเชียงแสนเป็นนิยายปรัมปราที่เล่าถึงอดีตที่ห่างไกล จนไม่สามารถ
กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ ประกอบกับยังไม่สามารถนำหลักฐานอื่นมาตรวจสอบความถูกต้อง จึงมีผู้มองว่าตำนานเชียงแสนเป็นเรื่องไร้สาระหาความจริงไม่ได้เลย สำหรับผู้เขียนเข้าใจว่าตำนานเชียงแสนเป็นความทรงจำของชาวล้านนา ที่พยายามอธิบายความเป็นมาของดินแดนที่เขาอยู่ และเมื่อวิเคราะห์ตำนานเชียงแสนแล้วก็พบว่า แก่นของตำนานเรื่องนี้คือการสะท้อนให้เห็นเรื่องราวการขยายตัวของกลุ่มคนไทยจากบริเวณตอนใต้ของจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก
ส่วนเวียงโยนกอาจมีจริงก็เป็นได้ เพราะชื่อ "โยนก" หรือ "โยน" เป็นชื่อที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ใน "ยุคคลาสสิค" ของดินแดนบริเวณทางตอนบนของล้านนายิ่ง ดังจะเห็นได้จากเมื่อพญามังรายทรงรวบรวมเมืองต่าง ๆ ในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำกกเข้าด้วยกันแล้วพระองค์ทรงตั้งเป็นแคว้นเรียกว่าแคว้นโยน ฉะนั้นอาณาจักรของพญามังรายในระยะแรกอาจเรียกว่าแคว้นโยนหรือโยนกก็ได้ ชื่อโยนหรือโยนกที่พญามังรายทรงตั้งขึ้นมีความหมายถึงเวียงโยนก และสะท้อนถึงความสำคัญของเวียงโยนกที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19
หลังจากที่กลุ่มผู้นำของเวียงโยนกสลายตัวไปแล้ว เวลาต่อมาพบหลักฐานว่าชุมชนในที่ราบลุ่มแม่
น้ำกกได้พัฒนาการเป็นรัฐขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น รัฐที่มีขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ แถบนี้คือ เมืองเงินยาง จึงเรียกสมัยนี้ว่าสมัยเงินยาง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งขยายตัวมาจากตอนใต้ของจีนเข้ามาอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำสายและบริเวณดอยตุง
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงการก่อตั้งเมืองเงินยาง โดยปูเจ้าลาวจง หรือลาวจก หรือลวจังก
ราช ซึ่งเป็นปฐมวงศ์แห่งราชวงศ์ลวจังกราช หรือราชวงศ์ลาว กษัตริย์ในราชวงศ์นี้จะใช้คำนำหน้าว่า "ลาว" ปู่เจ้าลาวจงจึงมีฐานะเป็นผู้นำชุมชน ซึ่งตามตำนานระบุว่า ปู่เจ้าลาวจงเนรมิตรบันไดเงินเสด็จลงมาจากสวรรค์พร้อมบริวาร เพื่อลงมา "สร้างบ้านแปงเมือง" ปู่เจ้าลาวจงจึงมีลักษณะกึ่งเทวะ โดยที่กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาไม่มีผู้ใดมีฐานเป็น "ปู่เจ้า" เลย สังคมของกลุ่มคนไทยในเวลานั้นมีอาชีพทำนา ตั้งบ้านเรือนบนสองฟากฝั่งแม่น้ำกก
ชุมชนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีเมืองเงินยางเป็นศูนย์กลางนั้น เข้าใจว่าสังคมในชุมชนมีลักษณะความ
ผูกพันธ์แบบเครือญาติ โดยกษัตริย์ส่งราชบุตรไป "สร้างบ้านแปงเมือง" ตามที่ต่าง ๆ เกิดเป็นเมืองหรือชุนชนแห่งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมกันมากในสมัยราชวงศ์ลาว และผลที่เกิดขึ้นประการหนึ่งคือ ราชวงศ์ลาวเป็นต้นวงศ์ของเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายทั่วไปในล้านนาและอาจเลยไปถึงสิบสองพันนาด้วย
ราชวงศ์ลาว มีกษัตริย์สืบต่อมา 25 พระองค์ โดยมีพญามังรายเป็นลำดับที่ 25 ซึ่งต่อมาพระองค์ได้
ก่อตั้งอาณาจักรล้านนาและก่อตั้งราชวงศ์มังรายขึ้น กษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาวที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากคือ ขุนเจื๋อง ซึ่งเป็นลำดับที่ 19 ขุนเจื๋องได้ขยายอาณาเขตไปทางด้านตะวันออกรบชนะเมืองแกว (เวียดนามตอนเหนือ) ได้ธิดาพญาแกว (นางอู่แก้ว) และคอรงเมืองแกว โดยให้ราชบุตรขุนเงินเรืองครองเมืองเงินยาง ส่วนที่เมืองแกวขุนเจื๋องมีราชบุตรกับธิดาพญาแกว 3 คน คนแรกท้าวผาเรืองให้ปกครองอยู่ที่เมืองแกว คนที่สองท้าวยี่คำห้าว ปกครองเมืองล้านช้าง คนที่สามท้าวชุมแสง ครองเมืองนันทบุรี (น่าน) ขุนเจื๋องสิ้นพระชนม์ในสงครามกับพญาฮ่อ (ยูนนาน)
เรื่องราวของขุนเจื๋องถูกนำมาเล่าสืบต่อกันเป็นเวลานานในฐานะวีระบุรุษ โดยเมืองต่าง ๆ ในแถบ
สิบสองพันนา เงินยาง พะเยา และลาว ต่างอ้างว่าขุนเจื๋องเป็นบรรพบุรุษของตนการอ้างเช่นนี้น่าจะหมายถึงการเป็นเชื้อชาติเดียวกัน และแสดงว่ารัฐต่าง ๆ ของไทยในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เคยรวมตัวกันมาช่วงระยะหนึ่ง เพราะเมื่อสิ้นสมัยขุนเจื๋องสมัยขุนเจื๋องแล้วรัฐต่าง ๆ ก็แตกกระจายออกไปอีก เห็นได้ชัดว่าคนไทยในล้านช้างแยกตัวไปอีกสายหนึ่ง ส่วนที่เมืองเงินยางยังคงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชาวไทยยวนสืบต่อมา
เมืองเงินยางในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ยังคงมีฐานะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและมีอำนาจทาง
การเมืองสูง อาจเป็นเพราะเมืองเงินยางยังใช้วิธีการสร้างอำนาจทางการเมืองโดยการอภิเษกสมรสกับเมืองต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น พญาลาวเม็งแห่งเมืองเงินยางอภิเษกสมรสกับนางอัวมิ่งจอมเมือง ( นางเทพคำข่ายหรือคำขยาย) ธิดาท้าวรุ่งแก่นชาย เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองพันนา ซึ่งเป็นไทยลื้อ การอภิเษกสมรสครั้งนี้ได้ให้กำเนิดพญามังรายขึ้น เมืองเงินยางในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ยังคงมีฐานะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและมีอำนาจทาง การเมืองสูง อาจเป็นเพราะเมืองเงินยางยังใช้วิธีการสร้างอำนาจทางการเมืองโดยการอภิเษกสมรสกับเมืองต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น พญาลาวเม็งแห่งเมืองเงินยางอภิเษกสมรสกับนางอัวมิ่งจอมเมือง ( นางเทพคำข่ายหรือคำขยาย) ธิดาท้าวรุ่งแก่นชาย เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองพันนา ซึ่งเป็นไทยลื้อ การอภิเษกสมรสครั้งนี้ได้ให้กำเนิดพญามังรายขึ้น
ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 1839-2101)
การก่อตั้งอาณาจักรล้านนา
พญามังรายครองเมืองเงินยางใน พ.ศ. 1804 ( ศักราชในสมัยพญามังราย ผู้เขียนใช้ชินกลาลมาลีปกรณ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าน่าเชื่อถือ กล่าวคือประสูติ พ.ศ. 1782 อายุ 22 ปี ราชาภิเษก พ.ศ. 1804. อายุ 23 ปี สร้างเชียงคำ พ.ศ. 1805, ยึดครองเมืองเชียงของ พ.ศ. 1812, สร้างเมืองฝาง พ.ศ. 1816, ทำสัญญาเป็นมิตรกับพญางำเมือง พ่อขุนรามคำแหง พ.ศ. 1830, ยึดครองเมืองหริภุญชัย พ.ศ. 1835, สร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839, สวรรคต พ.ศ. 1854 อายุ 72 ปี) นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว ปีแรกที่พญามังรายครองเมืองเงินยางนั้น ปรากฏว่าเมืองต่าง ๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำกกแตกแยกกันมีการแย่งชิงไพร่และรุกรานกันอยู่เสมอ สร้างความเดือนร้อนแก่พลเมือง พญามังรายจึงรวบรวมหัวเมืองน้อยมาไว้ในพระราชอำนาจ โดยอ้างถึงสิทธิธรรมที่พระองค์สืบเชื้อสายโดยตรงจากปู่เจ้าลาวจงและพระองค์ได้รับน้ำมุรธาภิเศก และได้เครื่องราชาภิเศกเป็นต้นว่าดาบไชย หอก และมีดสะหรีกัญไชยสิ่งเหล่านี้เป็นของปู่เจ้าลาวจง ซึ่งตกทอดมายังกษัตริย์ราชวงศ์ลาวทุกพระองค์ พญามังรายอ้างว่าเจ้าเมืองอื่น ๆ นั้นสืบสายญาติพี่น้องกับราชวงศ์ลาวที่ห่างออกไป ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำพิธีมุรธภิเศกและได้เครื่องราชาภิเษกเหมือนพระองค์
วิธีการที่พญามังรายรวบรวมหัวเมืองมีหลายวิธี เช่น ยกทัพไปตี ในกรณีที่เจ้าเมืองนั้นไม่ยอมสวามิภักดิ์ ได้แก่เมืองมอบ เมืองไล่ เมืองเชียงคำ เมืองเหล่านี้เมื่อตีได้จะให้ลูกขุนปกครองส่วนที่เมืองที่ยอมสวามิภักดิ์ พญามังรายคงให้เจ้าเมืองปกครองต่อไป นอกจากนั้นยังใช้วิธีเป็นพันธมิตรกับพญางำเมือง ๆ ได้มอบที่ให้จำนวนหนึ่ง มี 500 หลังคาเรือน เป็นต้น
หลังจากรวบรวมหัวเมืองใกล้เคียงเงินยางได้แล้ว พญามังรายก็ย้ายศูนย์กลางลงมาทางใต้ โดยสร้างเมืองเชียงรายใน พ.ศ. 1805 และสร้างเมืองฝาง พ.ศ. 1816 จากนั้นพญามังรายรวบรวมเมืองต่าง ๆ บริเวณต้นแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และริมแม่น้ำโขง ผู้เขียนเข้าใจว่าพญามังรายสามารถรวบรวมเมืองต่าง ๆ ( ซึ่งต่อมาเขตตอนบนของอาณาจักรล้านนา) สำเร็จประมาณ พ.ศ. 1830 ซึ่งเป็นปีที่พญามังราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง ทำสัญญามิตรภาพต่อกันผลของสัญญานั้น คงมีส่วนทำให้พญามังรายมั่นใจว่าการขยายอำนาจลงสู่แม่น้ำปิง เพื่อผนวกแคว้นหริภุญชัยจะไม่ได้รับการขัดขวางจากพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ตามชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่าหลังทำสัญญามิตรภาพแล้ว 2 ปี พญามังรายจึงส่งอ้ายฟ้าไปเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญชัย
เมื่อพญามังรายรวบรวมเมืองต่าง ๆ ในเขตทางตอนบนแถบลุ่มแม่น้ำกกได้แล้ว จากนั้นพระองค์ก็ขยายอำนาจลงสู่แม่น้ำปิงตอนบน โดยยึดครองแคว้นหริภุญชัยได้ในราว พ.ศ. 1835 พญามังรายประทับที่หริภุญชัยเพียง 2 ปี ก็พบว่าไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรพญามังรายทรงย้ายมาสร้างเวียงกุมกาม พระองค์ประทับอยู่เพียงช่วง 2-3 ปี จึงย้ายมาสร้างเวียงเชียงใหม่มีความเหมาะสมกับการตั้งศูนย์กลางยิ่งกว่ากุมกาม
ในการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่หรือ "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ใน พ.ศ. 1839 พญามังรายเชิญพญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงมาร่วมกันพิจารณาถึงชัยภูมิ ซึ่งพญาทั้งสองก็เห็นด้วยและช่วยดูแลการสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อแรกสร้างกำแพงเมืองมีขนาดกว้าง 900 วา ยาว 1,000 วา และขุดคูน้ำกว้า 9 วา โดยรอบและผังเมืองเชียงใหม่ได้แบบจากสุโขทัย
เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาแล้ว พระองค์พยายามให้เชียงใหม่ (ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองใหม่ที่เพิ่มก่อตั้ง) มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ ด้านการขยายอาณาเขต พญามังรายได้ผนวกเมืองเขลางค์ (ลำปาง) เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรและสร้างเมืองนาย ซึ่งเป็นหัวเมืองไทยใหญ่ โดยส่งขุนเครือราชโอรสไปปกครอง ด้านการปกครอง พญามังรายประทับที่เชียงใหม่ และเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง ส่วนเมืองเชียงรายเป็นเมืองอุปราช จึงส่งขุนครามราชโอรสไปปกครองตามลำดับความสำคัญของเมือง ลักษณะเช่นนี้เป็นรูปแบบการปกครองที่ขึ้นกับความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ซึ่งขึ้นกับความเข้มแข็งของกษัตริย์ที่ศูนย์กลาง ด้านกฎหมาย พญามังรายปกครองโดยใช้กฎหมายที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์" เข้าใจกันว่ามังรายศาสตร์ อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายธรรมศาสตร์ของมอญที่หริภุญชัย ด้านความสัมพันธ์กับอาณาจักรใกล้เคียง อาณาจักรล้านนาในสมัยพญามังราย มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรพะเยาเมืองหงสาและอังวะ ด้านทะนุบำรุงพุทธศาสนา พญามังรายคงจะได้รับผิทธิพลพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากเมืองหริภุญชัย พระองค์โปรดให้สร้างวัดกามโถม (ช้างค้ำ) จากพระราชกรณียกิจดังกล่าว นับว่าพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย เป็นผู้เริ่มวางรากฐานแก่อาณาจักรล้านนา
อาณาจักรล้านนาสมัยหลังจากพญามังราย เมื่อสิ้นสมัยพญามังราย ก็มีกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายสืบสันติวงศ์ต่อ ๆ มารวมทั้งสิ้นราชวงศ์มังรายมีกษัตริย์ 17 พระองค์ พญาไชยสงครามเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ได้ย้ายเมืองหลวงไปที่เชียงราย ส่วนเชียงใหม่ให้อุปราชปกครอง พญาแสนภู ( กษัตริย์องค์ที่ 3) ครองเชียงรายและสร้างเมืองเชียงแสน พญาคำฟู (กษัตริย์องค์ที่ 4) ครองเชียงแสน สรุปแล้วทั้งสามรัชกาลต่อจากสมัยพญามังราย เชียงใหม่เป็นเมืองอุปราช กษัตริย์จะครองเมืองเชียงรายและเชียงแสน ในสมัยพญาผายูจึงหันกลับมาครองเชียงใหม่ เริ่มส่งเสริมพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่มากขึ้น ตามลำดับ
พญาผายูทรงพยายามสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอย่างจริงจัง โดยสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแทนหริภุญชัย และพยายามลดบทบาททางศาสนาของหริภุญชัย เห็นได้จากสร้างวัดลีเชียงพระ (วัดพระสิงห์) แล้วอาราธนาพระชั้นผู้ใหญ่จากหริภัญชัยมาอยู่ในอารามวัดเชียงพระ
สมัยพญากือนาก็มีการอาราธนาพระสุมนเถร จากสุโขทัยเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนา (นิกายรามัญวงศ์ หรือสังกาวงศ์เก่า) และทรงสร้างวัดบุพพาราม (วัดสวนดอก) เพื่อเป็นที่พำนักของพระสุมนเถร นับเป็นการรับแนวความคิดพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากสุโขทัย ลดความสำคัญของพุทธศาสนาตามแนวของหริภุญชัย และที่วัดสวนดอกเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนาลังกาวงศ์แบบสุโขทัยมีพระสงฆ์บวชเรียนเป็นจำนวนมาก และในสมัยนี้เอง พระสุมนเถรก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากสุโขทัย ซึ่งพญากือนาโปรดให้สร้างพระบรมธาตุดอยสุเทพสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ในสมัยพญาแสนเมืองมา พระองค์เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจึงผนวชที่วัดสวนดอกและทรงสร้าง "เจดีย์หลวง" เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พญากือนา พระราชบิดาของพระองค์ เจดีย์หลวงนับเป็นเจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่มากในเชียงใหม่ เริ่มสร้าง พ.ศ. 1934 ต่อมา พ.ศ. 2024 ( สมัยพญาติโลกราช) สถาปนิกหมื่นคำพร้าคต ได้ขยายและสร้างเพิ่มเติม มีความสูงประมาณ 70-80 เมตร พ.ศ. 2088 ยอดเจดีย์พังลงมาเพราะแผ่นดินไหว
สมัยพญาสามฝั่งแกน มีกลุ่มพระสงฆ์เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมและอุปสมบทใหม่ที่ลังกา พระสงฆ์กลุ่มนี้เมื่อกลับมาแล้วก็ตั้งลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ (มีวัดป่าแดง เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลาง) และได้เผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งในล้านนาและไปถึงเขตสิบสองพันนา
สมัยพญาติโลกราช (พ.ศ. 1984-2030) เป็นยุคที่ล้านนารุ่งเรืองในทุกด้าน ด้านการศาสนามีการสร้างวัดโพธารามมหาวิหาร ( วัดเจ็ดยอด) และมีการทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่แปดของโลกที่วัดนี้ (พ.ศ. 2020) ด้านการขยายอาณาเขตสมัยนี้ล้านนามีอาณาเขตกว้างขวางได้เมืองแพร่ น่าน หัวเมืองไทยใหญ่ เชียงรุ่ง ทางด้านใต้มีการทำสงครามกับอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
สมัยพญาเมืองแก้ว ( พ.ศ. 2038-2068) เป็นยุครุ่งเรืองที่สืบต่อมาจากสมัยพญาติโลกราช โดยเฉพาะวรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนา มีการแต่งไว้อย่างมากมาย พระสงฆ์ที่เป็นกวีที่มีชื่อเสียง เช่น พระโพธิรังสี (ต่ง จามเทวีวงศ์ , สิหิงคนิทาน) พระสิริมังคลาจารย์ (แต่ง เวสสันดรทีปนี , จักกวาฬทีปนีฯ) พระรัตนปัญญเถระ (แต่ง ชินกาลมาลีปกรณ์) พระญาณกิติเถระ เป็นต้น
ความเสื่อมของราชวงศ์มังรายเริ่มตั้งแต่ในสมัยพญาเมืองเกษเกล้า ( พ.ศ. 2068) ตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นมาพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลดน้อยลง ขุนนางเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และในระยะนี้พม่าราชวงศ์ตองอูเริ่มมีอำนาจขึ้น และขยายอิทธิพลเข้ามาครอบครองอาณาจักรล้านนา เมื่อ พ.ศ. 2101
ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ. 2101-2317)
ภายใต้การปกครองของพม่า เชียงใหม่ยังคงเป็นศูนย์กลางของล้านนา ที่พม่าควบคุมอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าเมืองอื่น โดยในระยะแรกพม่าแต่งตั้งให้พระเมกุฎิเจ้าเมืองเชียงใหม่ ปกครองตนเองตามเดิม แต่ต้องส่งส่วนและเครื่องราชบรรณาการไปให้พม่า ในระยะหลังพม่าเข้ามาจัดการควบคุมยิ่งขึ้น เพราะในสงครามระหว่างพม่ากับอยุธยา พ.ศ. 2106 พระเมกุฎิไม่ได้ช่วยพม่ารบอยุธยาอย่างจริงจัง พม่าจึงปลดพระเมกุฏิออกใน พ.ศ. 2107 แล้วแต่งตั้งพระนางวิสุทธิเทวีซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระนางวิสุทธิเทวีสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2121 พม่าก็เข้ามาปกครองโดยตรง โดยแต่งตั้งเจ้าเมงซานธามังคุย เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นการสิ้นสุดของการปกครองเชียงใหม่ โดยเชื้อสายของราชวงศ์มังราย
นโยบายของพม่าที่ปกครองเชียงใหม่จะส่งข้าหลวงพม่ามาประจำการ ส่วนเมืองอื่น ๆ ในล้านนาคงให้เจ้าเมืองปกครองต่อไปโดยพม่าควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนและปูนบำเหน็จความดีความชอบ ข้าหลวงพม่าที่เชียงใหม่จะทำหน้าที่ควบคุมเชียงใหม่และเมืองอื่น ๆ ในล้านนาไม่ให้ก่อการกบฎ ในส่วนการปกครองภายในของล้านนาคงปฏิบัติไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน พม่าจะควบคุมนโยบายที่สำคัญคือ ตำแหน่งเจ้าเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในรูปการเกณฑ์แรงงานและการส่งส่วนไปให้พม่า
อย่างไรก็ตาม การปกครองของพม่ามีการควบคุมที่เข้มงวด โดยเฉพาะการเกณฑ์ งานทำสงครามและการส่งส่วยสร้างความเดือนร้อนแก่ชาวเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่พยายามดิ้นรนเป็นอิสระอยู่หลายครั้ง ซึ่งในปลายพุทธศตวรรษที่ 23 สามารถแยกตัวเป็นอิสระอยู่ระยะหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2306 พม่าก็ตีเมืองเชียงใหม่ได้อีก ในครั้งนี้พม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมาก เพื่อบั่นปั่นทอนกำลังมิให้เชียงใหม่รวมกำลังต่อต้านพม่า แต่ความคิดที่จะเป็นอิสระจากพม่าของชาวเชียงใหม่เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งไม่สำเร็จ เชียงใหม่ไม่สามารถขับไล่พม่าตามลำพังได้ ในที่สุด พ.ศ. 2317 พระยาจ่าบ้านแลพระยากาวิละได้ร่วมมือกัน โดยเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินแล้วร่วมกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไป นับตั้งแต่นั้นมา เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย
ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย ( พ.ศ. 2317-2427)
หลังจากเสร็จสงคราขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 แล้ว พระเจ้าตากสินทรงตอบแทนความดีความชอบโดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละครองเมืองลำปางและทรงมอบอาญาสิทธิ์แก่เจ้าเมืองทั้งสองให้ปกครองบ้านเมืองตามธรรมเนียมเดิมของล้านนา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาพม่ายังไม่หมดไป พม่ายังพยายามยึดเชียงใหม่กลับคืนโดยยกกองทัพเข้ามาหลายครั้ง ( ครั้งแรก พ.ศ. 2318) พระยาจ่าบ้านป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างเข้มแข็งแต่ในที่สุดก็รักษาเมืองไว้ไม่ได้ เพราะผู้คนในเมืองเชียงใหม่มีน้อย และอยู่ในสภาพอดยากมาก พระยาจ่าบ้านจึงถอยไปตั้งมั่นที่วังพร้าวและลำปาง เมื่อกองทัพพม่ากลับไป พระยาจ่าบ้านก็จะกลับไปตั้งเมืองเชียงใหม่อีกในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงมีลักษณะกลับไปกลับมา ในช่วงปลายสมัยธนบุรีเชียงใหม่ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างรวมทั้งเมืองอื่น ๆ ในล้านนาด้วยจะมีแต่เมืองลำปางที่เป็นแหล่งที่มั่นของฝ่ายไทย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราช ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้าน ซึ่งเสียชีวิตลงในปลายสมัยธนบุรีและทรงโปรดเกล้าฯ ให้น้องพระยากาวิละดำรงตำแหน่งสำคัญในเมืองเชียงใหม่และลำปาง เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ล้านนา พระยากาวิละจึงทำหน้าที่ " สร้างบ้านแปงเมือง" เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งและโดยที่เชียงใหม่อยู่ในอิทธิพลของพม่าพระยากาวิละไม่สามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ทันที จึงเริ่มด้วยการตั้งมั่นที่เวียงป่าซางใน พ.ศ. 2325 ก่อนและตั้งมั่นถึง 14 ปี จึงสามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2339 ซึ่งเป็นปีที่เชียงใหม่มีอายุครบ 500 ปี ส่วนอิทธิพลของพม่าในล้านนาถือว่าสิ้นสุดลงในสงครามขับไล่พม่า พ.ศ. 2347 โดยกองทัพเชียงใหม่ร่วมกับกองทัพไทยยกไปตีเมืองเชียงแสนที่มั่นของพม่าสำเร็จ
พระยากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่โดยรวบรวมพลเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการกวาดต้อนชาวเมืองที่หลบหนีเข้าป่าและกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองพันนาและไทยใหญ่มาเชียงใหม่ เชียงใหม่จึงพ้นจากสภาพเมืองร้างและยังได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย นอกจากนั้นพระยากาวิละได้ฟื้นฟูเชียงใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ราชประเพณี โดยกระทำพิธีราชาภิเษก สถาปนาราชวงศ์กาวิละหรือเจ้าเจ็ดตน ในลักษณะเดียวกับราชวงศ์มังราย การสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ การสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก และการทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นต้น เชียงใหม่ในสมัยพระยากาวิละจึงมีความเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่นและเป็นศูนย์กลางของล้านนาที่เข้มแข็ง และหลังจากสมัยพระยากาวิละแล้วก็มีเจ้าเมืองปกครองต่อมา รวมทั้งสิ้นราชวงศ์กาวิละ ( หรือเจ้าเจ็ดตน) มี 9 องค์
นโยบายและวิธีการปกครองดินแดนหัวเมืองประเทศราชล้านนา ( ขณะนั้นประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน) จะมีลักษณะระมัดระวัง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ล้านนาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าถึงสองร้อยกว่าปี ย่อมมีความใกล้ชิดกับพม่ามาก รัฐบาลกลางที่กรุงเทพเกรงว่าล้านนาจะหันกลับไปหาพม่า และในขณะเดียวกันพม่าก็พยายามแย่งชิงล้านนากลับคืนไปอีก รัฐบาลกลางจึงปกครองล้านนาโดยไม่เข้าไปกดขี่อย่างที่พม่าเคยทำกับล้านนา แต่กลับใช้วิธีการปกครองแบบผูกใจเจ้านายเมืองเหนือ โดยยอมผ่อนผันให้เจ้าเมืองมีอิสระในการปกครองภายใน เศรษฐกิจ การศาล การต่างประเทศ และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนยกย่องให้เกียรติแก่เจ้าเมืองในโอกาสอันควร
โครงสร้างทางการเมืองการปกครองภายในล้านนา คงเป็นรูปแบบที่แต่ละเมืองประกอบด้วยตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบ ได้แก่ เจ้าเมือง พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตรและพระยาบุรีรัตน์ ตามทฤษฎีตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบนี้ รัฐบาลกลางเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าชั้นสูงในล้านนาจะเสนอผู้ที่เห็นสมควรจะได้รับตำแหน่ง ซึ่งทางรัฐบาลกลางมักจะแต่งตั้งไปตามที่เสนอมา นับว่าการเมืองภายในล้านนามีอิสระอยู่มาก นอกจากตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบแล้ว ยังมีคณะกรรมการเรียกว่า "เค้าสนามหลวง" จำนวน 32 คน เค้าสนามหลวงมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเจ้าเมืองและช่วยในการบริหารบ้านเมือง
ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจภายในล้านนา ในช่วงก่อนรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางนั้น รัฐบาลจะถือว่าเจ้าเมืองมีสิทธิที่จะแสวงหารายได้ และจับจ่ายใช้สอยได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นด้านการศาสนาก็ใช้กฎหมายท้องถิ่นและใช้การตัดสินไปตามประเพณีของบ้านเมือง
อย่างไรก็ตามวิธีการปกครองดังกล่าวมิได้หมายความว่า ล้านนาจะเป็นอิสระทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางได้ควบคุมทางอ้อม เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับสูง การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา การส่งต้นไม้ทองเงินและเครื่องราชบรรณาการ , ส่วย , การเกณฑ์สิ่งของและการเกณฑ์ในราชการสงคราม เป็นต้น
วิธีการควบคุมเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ในฐานะเมืองประเทศราชดังกล่าว แม้จะไม่รัดกุมเท่าไรนักก็ตาม แต่ก็เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในสมัยนั้น ซึ่งรัฐบาลกลางมีกำลังน้อย ควบคุมไม่ถึงการคมนาคมก็ไม่สะดวก ในส่วนเจ้าเมืองก็ต้องการมีสิทธิในการปกครองตนเองตามสมควร นับว่ารูปแบบการปกครองขณะนั้นไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างใดต่อรัฐบาลกลาง
การเปลี่ยนแปลงในรูปที่รัฐบาลต้องเข้าไปควบคุมกิจการภายในหัวเมืองประเทศราชล้านนามากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดก็ผนวกเอาล้านนาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทยนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคแห่งการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก ด้านการปกครองหัวเมืองมีการยกเลิกระบบการปกครองเมืองประเทศราช ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาช้านาน โดยจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแทน มีข้าหลวงเทศาภิบาล ซึ่งรัฐบาลกรุงเทพส่งไปปกครองและขึ้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งจึงเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติรัฐ ซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์
สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องเข้าไปจัดการหัวเมืองล้านนา เกิดจากการเข้ามาของตนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ (พวกมอญ , พม่า) ในล้านนาซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ. 2399-2413) และสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (พ.ศ. 2416-2439) โดยเฉพาะคนในบังคับอังกฤษได้เช่าทำสัมปทานป่าไม้จากเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนมากหลายราย นอกจากนั้นตามหัวเมืองชายแดนระหว่างเชียงใหม่กับพม่าเกิดความวุ่นวาย มีโจรผู้ร้ายปล้นคนในบังคับอังกฤษที่เดินทางติดต่อค้าขายระหว่างพม่ากับล้านนา ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวอังกฤษเสียผลประโยชน์ รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มแทรกอำนาจในล้านนา ซึ่งนับเป็นดินแดนแห่งแรกในประเทศที่เกิดปัญหาก่อนที่อื่น ๆ
สมัยรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง ( พ.ศ. 2427-2476)
การรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง รัฐบาลกลางวางเป้าหมายของการปฏิรูปการปกครอง เพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจเพียงแห่งเดียว ในการดำเนินการจะต้องกระทำสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรกยกเลิกฐานะหัวเมือง ประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม โดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าหลวงมาปกครอง ขณะเดียวกันก็พยายามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเสีย โดยรัฐบาลกลางริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในที่สุดตำแหน่งเจ้าเมืองก็สลายตัวไป ประการที่สอง การผสมกลมกลืนชาวล้านนาให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยเช่นเดียวกับพลเรือนส่วนใหญ่ของประเทศ กล่าวคือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ ซึ่งแต่เดิมมีความรู้สึกแบ่งแยกเป็นคนละพวก คนทางใต้เข้าใจว่าชาวล้านนาเป็นลาว ไม่ใช่ไทย รัฐบาลกลางใช้วิธีจัดการปฏิรูปการศึกษาโดยจัดระบบโรงเรียนหนังสือไทย แทนการเรียนอักษรพื้นเมืองในวัดและกำหนดให้กุลบุตรกุลธิดาต้องศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย ซึ่งประสบผลสำเร็จ ชาวเชียงใหม่และล้านนาต่างถูกผสมกลมกลืนจนมีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทย
การดำเนินการ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอาการ การคลัง การศึกษา การสาธารณสุขและอื่น ๆ โดยจัดเป็นระบบเดียวกับกรุงเทพฯ ในทุกด้านระหว่างการปฏิรูปการปกครองในช่วงก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2427-2442) ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 ( พ.ศ. 2416-2439) ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง เพราะเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานรัฐบาลกลางมีนโยบายไม่ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองในทันที ยังคงใช้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติแต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ทีละน้อย รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่ในลักษณะที่ร่วมกันปกครองกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลาย โดยที่ข้าหลวงพยายามแทรกอำนาจลงไปแทนที่ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งได้แก่รายได้จากการเก็บภาษีอากรส่วนหนึ่งต้องส่งกรุงเทพฯ นอกจากนั้นป่าไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลายได้ถูกโอนเป็นของรัฐใน พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการพิราลัยของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ และหลังจากสิ้นสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์แล้ว รัฐบาลกลางให้เจ้าอุปราชรั้งเมืองอยู่หลายปี จนกระทั่งเห็นว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางดี จึงมีการแต่งตั้งให้เจ้าอุปราชเป็นพระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 8 ( พ.ศ. 2444-2452)
หลังจากการดำเนินงานช่วงแรก (พ.ศ. 2427-2442) ประสบความสำเร็จรัฐบาลกลางได้ดำเนินการขั้นต่อมา โดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ( พ.ศ. 2442-2476) ซึ่งเป็นการยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชของล้านนา โดยถือว่าหัวเมืองประเทศราชล้านนา ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรอย่างแท้จริง อำนาจการปกครองจะเป็นของข้าหลวงประจำเมืองต่าง ๆ โดยที่เจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติแต่เพียงในนามเท่านั้น ดังนั้นทั้งพระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ และเจ้าแก้วนวรัฐจึงจะมีฐานะเป็นประมุขของเมืองเชียงใหม่
ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรัฐบาลเข้าควบคุมมากขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป นอกจากนั้นยังจัดสรรรายได้ของเจ้าเมืองเป็น 3 ส่วน คือ 1. เงินเดือน 2. เงินส่วนแบ่งค่าตอไม้ 3. เงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์ ซึ่งรวม 3 ส่วนแล้วปีหนึ่งพระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จะต้องมีรายได้ไม่น้อยนัก คือประมาณ 240,277 บาท แต่รายได้นี้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนเงินค่าตอไม้ และเงินแทนเกณฑ์ซึ่งเก็บได้ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มลดลงทุกปี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2451 พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ จึงขอพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือนประจำเดือนละ 20,000 บาท จึงมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป และนับเป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่เวลาต่อมา
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการกำหนดเป็นนโยบายการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองฝ่ายเหนือทุกองค์ โดยถือว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เป็นต้นไป หากตำแหน่งเจ้าเมืองใดว่างลง จะไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นอีก ส่วนเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ก็ได้เงินเดือนตลอดไปจนถึงแก่พิราลัย ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2482 จึงเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่โดยปริยาย
หลังจากคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มณฑลพายัพจึงยุบ ส่วนเมืองเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาในอดีต ก็มีฐานะเป็นเพียงจังหวัดเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็สู่รูปแบบเดียวกับกรุงเทพฯ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
----------------------------------
เครดิตข้อมูลจากเว็บ Dek-D.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น