คลังบทความของบล็อก

1 พฤศจิกายน 2561

สยามเป็นชื่อดินแดน ไม่ใช่ชื่อ “คนไทย”

                       สยามเป็นชื่อดินแดน ไม่ใช่ชื่อ “คนไทย” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




สยาม ไม่ใช่ชื่อชนชาติ และไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ใดหรือเผ่าพันธุ์ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นชื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมีรากจากคำพื้นเมืองดั้งเดิมว่าซัม ซำ หรือ สาม หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซับน้ำซึมเป็นตาน้ำพุน้ำผุดโผล่ขึ้นจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน

น้ำซับน้ำซึม หรือน้ำพุน้ำผุดเหล่านั้นเกิดจากน้ำฝนที่รากต้นไม้ทั้งบนภูเขาและบนเนินบนดอนอุ้มไว้ แล้วค่อยๆ ซึมเซาะซอนใต้ดินมาพุมาผุดขึ้นบริเวณดินอ่อนหรือดินโคลนเชิงเขาหรือเชิงเนินดอน จนบางแห่งกลายเป็นห้วยหนองคลองบึง เช่น หนองหานที่สกลนคร อุดรธานี บึงบอระเพ็ดที่นครสวรรค์ เป็นต้น



มีผู้พยายามดึงคำว่า สยาม ให้เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา เช่น บาลี สันสกฤต แล้วเปิดค้นหาความหมายดีๆ เชิงยกย่องตัวเองไหลคลั่งไคล้ แต่แล้วก็เป็นไปไม่ได้ เพราะได้พยายามเหนี่ยวโน้มให้สะกดด้วยอักษรศักดิ์สิทธิ์จนผิดความจริงไป เรื่องนี้จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้ช่องไว้นานแล้วว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ความพยายามที่จะแปลคำสยามให้เป็นคำสันสกฤตนี้ล้วนห่างไกลความเป็นจริงทั้งสิ้นทีเดียว. ตามสมมุติฐานของเรานั้น สยามคือกำเนิดออกมาจาก ซาม-เซียม, และแหล่งกำเนิดของมันอยู่ในบริเวณยุนนานตะวันตกเฉียงใต้และพะม่าเหนือ, เราจะต้องคลำหาต้นกำเนิดของมันจากภาษาในเขตนี้ในยุคโบราณ และหาคำแปลจากคำดั้งเดิมนั้น มิใช่จับเอาสยามซึ่งเป็นรูปคำที่ถูกดัดแปลงแล้วมาแปล.”

แม้สมมุติฐานนี้ จิตร ภูมิศักดิ์จะยังไม่ยืนยัน “เพราะยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาสภาพชีวิตของไตที่นั่นอย่างจุใจ และที่สำคัญก็คือยังไม่มีโอกาสได้ศึกษา ภาษา วรรณคดีและเอกสารประวัติศาสตร์ของไตแถบนั้น ที่เป็นต้นฉบับภาษาพื้นเมืองอย่างรอบคอบและกว้างขวาง. จึงยังต้องถือเป็นสมมุติฐาน ที่ตั้งขึ้นชั่วคราวเท่านั้น.” แต่ในขณะนี้น่าเชื่อได้มากที่สุดและมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างสมมุติฐานนี้ เว้นเสียแต่จะพบหลักฐานเป็นอย่างอื่นที่ดีกว่า

แต่ความหมายของคำว่าสยามนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังเปิดช่องให้หาความหมายทางอื่นได้อีกว่า “ข้าพเจ้ายังไม่ปรารถนาจะยืนยันแน่นอนในสมมุติฐานข้างต้น. ยังเชื่อว่าอาจจะมีทางศึกษาค้นคว้าอื่นที่ท่านผู้สนใจศึกษาค้นพบ.”



คำว่า ซำ นี้มีใช้เรียกเป็นชื่อเมืองใหญ่ๆ ที่ขึ้นชื่ออยู่สองแห่ง คือเมืองซำเหนือและซำใต้, อยู่ในแขวงหัวพัน (หัวพันห้าทั้งหก) ในประเทศลาวบัดนี้. เมืองทั้งสองนี้มีชื่อเช่นนี้มาแต่โบราณ.

ทางเวียตนามเรียกบริเวณซำทั้งสองว่า ซ่ำโจ็ว (แค้วนซัม) มาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๘๕๐-๑๙๐๐, นั่นคือเวียตนามเอ่ยถึงซ่ำโจ็วหรือแคว้นซัมขึ้นในระยะเดียวกับที่พงศาวดารจีนราชวงศ์หยวนกล่าวถึง “ส่าน” ทางหนานเจ้าและไตมาว.

ซำ หรือ ซัม ในภาษาไตดั้งเดิม, ซึ่งบัดนี้ยังมีอยู่ในภาษาลาวและผู้ไท, หมายความถึงบริเวณน้ำซับน้ำซึมประเภทที่พุขึ้นจากแอ่งดินโคลน. น้ำดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากน้ำที่รากต้นไม้บนภูเขาหรือเนินดอนอุ้มไว้ แล้วซึมเซาะซอนใต้ดินมาพุขึ้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาหรือเนินดอน.

บริเวณที่พุขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นบึงโคลนสีเหลือง เป็นโคลนลึกแค่คอทีเดียว โคลนสีเหลืองนี้ในภาษาลาวเรียกว่า ดูน. น้ำที่พุขึ้นจะดันโคลนหรือดูนขึ้นมาจนเป็นโคลนเดือดปุดๆ พุพลั่งๆ อยู่ตลอดปีไม่มีแห้ง.

น้ำที่พุขึ้นมานั้นมีปริมาณมาก ไหลเจิ่งซ่าไปตามทางน้ำหรือลำธาร, ลักษณะของน้ำใสสะอาด จืดสนิท ซำที่น้ำพุขึ้นนี้บางแห่งก็เป็นเทือกยาวมาก คือเป็นเทือกเขาที่ยาวหลายสิบกิโลเมตรและมีซำพุเป็นตอนๆ ทั้งสองด้านของเทือก บางแห่งก็เป็นแอ่งใหญ่โตราวกับบึง.

ซำดังกล่าวนี้มีทั่วไปในบริเวณป่าเขาที่มีต้นไม้แน่นหนา เพราะรากไม้อุ้มน้ำไว้ได้ตลอดปีและต้องหาทางไหลลงสู่ที่ราบ. ถ้าป่านั้นถูกไฟไหม้ราบเตียนเมื่อใด ซำก็จะแห้งไปเมื่อนั้น.



ซำเหล่านี้เป็นที่ชัยภูมิที่คนไต-ลาวยึดเป็นที่ตั้งบ้านเมืองทำมาหากินโดยทั่วไป เพราะอาศัยน้ำได้แม้ในฤดูแล้ง, คล้ายกับเป็นโอเอซิสของทะเลทราย.

บริเวณซำนั้นเป็นที่ดึงดูดคนไต-ลาวมาชุมนุมตั้งชมรมกสิกรรมมาก เพราะพื้นที่บริเวณนั้นทำนาได้ปีละสองหน, เป็นสวนอันอุดมและให้ผลดีมาก. นาที่อยู่ติดกับซำนั้นเป็นนาดีถึงขนาดเรียกเป็นคำเฉพาะทีเดียวว่า “นาคำ” (คือนาทองคำ) และน้ำที่ซึมออกมาจากซำนั้นก็เรียกกันว่า “น้ำคำ” ลองคิดดูก็แล้วกันว่ามันมีค่าต่อชีวิตของสังคมไตเพียงไร จึงถึงกับได้ชื่อว่านาคำ และ น้ำคำ.

ชื่อบ้านที่เรียกว่า “บ้านซำ” มีอยู่ทั่วไปทางภาคอีสานของไทยและในประเทศลาว และยังมีบริเวณที่เรียกว่า ซำ ต่างๆ ตามชื่อเฉพาะของแต่ละซำอีกมาก. ชื่อบ้านนาคำและบ้านน้ำคำก็มีอยู่ทั่วไปเช่นกัน.



จากสังคมของซำ, ชีวิตทางการผลิตและการเมืองของไตค่อยๆ พัฒนามาอย่างช้าๆ จนภายหลังได้มีการจัดตั้งทางสังคมเป็นหน่วยเอกภาพขึ้นระหว่างซำต่างๆ หรือหมู่บ้านต่างๆ ประกอบเป็นเมืองเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ, คำว่า ซำ จึงค่อยๆ หลบหายไปเป็นชื่อตำบลบ้านส่วนย่อยของเมืองจนถึงสูญสิ้นชื่อไป. นี่กระมังที่เราไม่ได้พบเมืองใหญ่ๆ ของไตมาวชื่อซำอะไรเลยในปัจจุบัน, นอกจากจะพบเหลือยืนยงอยู่ที่ชื่อเมืองซำเหนือและซำใต้ของแขวงหัวพันในประเทศลาวเท่านั้นที่นับเป็นเมืองใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดัง.

ถ้าเรายอมรับสมมุติฐานนี้ไว้ทีก็หมายความว่าคำดั้งเดิมของสยามนั้นคือ ซำ หรือ ซัม. จากคำนี้เองที่ค่อยๆ พัฒนาไปเป็น ซาม, เซม, เซียม, ซยาม, สยาม ฯลฯ ในภาษาอื่นๆ โดยรอบ และไปไกลจนกระทั่งกลายเป็นอาโหมในภาษาพื้นเมืองอัสสัม



ชื่อดินแดนว่าสยาม
สยามเมื่อแรกเริ่มเดิมทีเดียวเป็นชื่อพื้นที่มีน้ำซับน้ำซึมหรือน้ำพุน้ำผุด เรียก ซำ ซัม จนเป็น สาม สยาม ถือเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ทำเกษตรกสิกรรมได้ คนทั้งหลายก็ตั้งเป็นชมรมหมู่บ้านขึ้น นานเข้าก็เป็นชุมชนกระจัดกระจายทั่วไป ใครก็ตามที่มีหลักแหล่งดังกล่าวก็เป็นพวกซำ ซัม นานเข้าก็เพี้ยนเสียงเป็นสาม สยาม

ฉะนั้นสยาม จึงไม่ใช่ชื่อทางชาติพันธุ์เผ่าใดเผ่าหนึ่ง สยามเป็นชื่อพื้นที่ ชื่อบริเวณ แล้วขยายกว้างเป็นชื่อดินแดน ชื่อประเทศ จนถึงชื่ออาณาจักร คนที่อยู่บริเวณนั้นถูกคนอื่นเรียกชื่อว่า สยาม คนสยาม ชาวสยาม ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าเหล่ากอหรือเผ่าพงศ์วงศ์วานอะไร แต่ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายนั้น มีพวกไท ไต หรือตระกูลไทย-ลาวด้วย

ภาษาของตระกูลไทย-ลาว มีอาณาบริเวณสำคัญอยู่ทางตอนใต้ของจีน เช่น ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง ฯลฯ ที่ใกล้ชิดกับพวกฮั่นคือจีนที่มีการค้ากว้างขวาง ทำให้ตระกูลไทย-ลาว เคลื่อนไหวเร็วแล้วกลายเป็น “ภาษาการค้า” คนในตระกูลอื่นต้องใช้ภาษาไทย-ลาวเป็น “ภาษากลาง” ในการสื่อสาร ในที่สุดคนจากที่อื่น ก็เหมาว่าสยามเป็นพวกไทย-ลาว หรือภาษาสยาม หรือสยามภาษา แต่ในชีวิตจริงมีตระกูลอื่นจำนวนมากปะปนอยู่ด้วยกันทั้งหมดเป็นชาวสยาม เพราะพวกนี้ต้องใช้ภาษาสยามในการสื่อสาร



ผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ออกเสียงชื่อสยามด้วยสำเนียงของตนต่างๆ กันไป จิตร ภูมิศักดิ์ รวบรวมไว้ราว ๒๕ คำ

ความหมายเชิงดูถูก
คนไทยมักเชื่อว่า ไท ไต เป็นชื่อคนไทยมาก่อนนานแล้ว แต่คนอื่นมาเรียกคนไทยว่า สยาม ในสมัยหลังๆ ปัญหาจึงน่าคิดว่า ชื่อ สยาม-เสียม จำพวกนี้อาจจะเป็นชื่อที่มีความหมายในทางตรงข้ามกับคำว่า ไท, คือเป็นชื่อหนึ่งในบรรดาชื่อที่เรียกอย่างดูถูกทั้งหลายที่ชาติอื่นใช้เรียกคนไทยแต่โบราณ. ดังมีนักปราชญ์ นักค้นคว้าทางอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์จำนวนมากเคยบอกไว้นานแล้ว

แต่ประเด็นสยามเป็นคำดูถูกที่คนกลุ่มอื่นๆ ใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังค้นไม่พบโดยอธิบายไว้ว่า

“ตราบเท่าที่ได้ศึกษามาจนบัดนี้ ข้าพเจ้ายังไม่ได้พบร่องรอยความหมายของคำ สยาม ในด้านดูถูกเหยียดหยามพอที่จะเสนอได้เป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ใคร่ขอชี้แจงไว้ว่า ถ้าท่านนักศึกษาผู้ใดได้ศึกษาค้นพบเค้าเงื่อนว่า แท้จริงแล้วความหมายและที่มาของคำสยาม มิได้เป็นดังที่ได้เสนอไว้แล้ว หากมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นคำเรียกอย่างดูถูกซึ่งเกิดเรียกขึ้นโดยภาษาหนึ่งใดก่อน เช่นนี้แล้วก็โปรดอย่าได้ตกใจหรือปฏิเสธผลงานค้นคว้านี้เสีย เพราะมันอยู่ในข่ายความเป็นไปได้ และอาจจะถูกต้องแท้จริงยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าได้เสนอสมมุติฐานชั่วคราวไว้ก็ได้.”

                                                                  อาจารย์   สุจิตต์ วงษ์เทศ


   เครดิตจาก  มติชน สุดสัปดาห์
   ขอบคุณภาพจาก   Nheurfarr Punyadee ,หนังสือพิมพ์มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น